มช. คว้า 2 รางวัลอันทรงเกียรติ จากเวที AIC Award 2022 ผลักดันนวัตกรรมการเกษตรสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน

5 สิงหาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

            มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรม และบริการวิชาการทางวิชาการแก่สังคม โดยล่าสุดคณะเกษตรศาสตร์ ได้นำทีมคณาจารย์เข้ารับรางวัลเกียรติคุณ ในงาน เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ปี 2565 ( AIC Award 2022 ) จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบาย Thailand 4.0

           การมอบรางวัล AIC Award 2022 เป็นเวทีที่เห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์รูปแบบนวัตกรรมทางการเกษตร เสริมสร้างพลังใจให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและการให้บริการดีเด่นระดับประเทศสำหรับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการคัดเลือกรางวัลจากเวทีนี้ 2 รางวัล ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 สาขานวัตกรรมเพื่อสังคมการเกษตร จากผลงาน “กระบวนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพสูงเพื่อทางเลือกของเกษตรกร” จัดทำโดย รศ.ดร. ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวล้านนา และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้าวพื้นเมืองล้านนา จังหวัดเชียงใหม่

และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ จากผลงาน “อาหารทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์” จัดทำโดย ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศแมลงอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่

        ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้าวพื้นเมืองล้านนาซึ่งมีบทบาททางด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการเพิ่มมูลค่าสู่เกษตรกร โดยความร่วมจากนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่
ศูนย์ความเป็นเลิศแมลงอุตสาหกรรมเป็นเเหล่งรวมความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการต้นทางไปจนถึงปลายทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ความรู้แก่เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจ รวมไปถึงการต่อยอดส่งเสริม ผลักดันคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากแมลงอุตสาหกรรม ทำให้ได้มาตรฐานด้วยบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถ
นับเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวมช.อย่างมากที่ได้สร้างสรรค์งานนวัตกรรมที่มีประโยชน์ สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งยังส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัวได้เป็นอย่างดี การได้รับรางวัลเป็นภาพสะท้อนความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะในโลกการศึกษาและการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นในการ สอดรับกับวิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน”

แกลลอรี่