ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม สินค้า GI สีทอง

19 พฤศจิกายน 2564

คณะเกษตรศาสตร์

เชื่อว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีของดี สินค้าเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สินค้าที่นับได้ว่าหาได้เฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น แล้วรู้ไหมว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนดตราสัญลักษณ์ GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่สามารถบ่งบอกให้รู้ได้ว่าสินค้าไหนเป็นสินค้าเด่นและมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น

GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ตราสัญลักษณ์ GI คือตราสัญลักษณ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้า เพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ วัตถุประสงค์หลักของตราสัญลักษณ์ GI เพื่อสร้างเกณฑ์ด้านคุณภาพให้กับสินค้า สร้างความเชื่อถือในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง

  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐิตากานต์ พยัคฆา อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บอกถึงขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียน GI ว่า ขั้นตอนของการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งเริ่มจากการที่เกษตรกรขอขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนว่าสินค้าของเรานั้นแปลก แตกต่างจากพื้นที่อื่น มีเอกลักษณ์และจุดเด่นที่สำคัญ หลังจากนั้นสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะดำเนินเรื่องไปถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะส่งเรื่องต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมิน ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการตรวจสอบเพื่อขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ โดยตราสัญลักษณ์นี้สามารถใช้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น เมื่อหมดอายุต้องทำการยื่นเรื่องเหมือนการขอตราสัญลักษณ์ใหม่อีกครั้ง โดยตลอดทั้ง 2 ปีที่มีการใช้ตรานี้บนผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนจะแอบอ้างใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวไม่ได้

  

บทบาทของคณะเกษตรศาสตร์ มช. กับการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐิตากานต์ พยัคฆา ได้รับโอกาสจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการควบคุม จัดทำระบบตรวจสอบ และประเมินคุณภาพสินค้าผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อมในพื้นที่เป็นที่ปรึกษาหลักให้กับทีมงานและนักวิจัย

ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 มิชชันนารีเข้ามาให้ความรู้และต่อยอดความสามารถการทอผ้าของชาวบ้าน โดยริเริ่มนำขนแกะมาทำเป็นเส้นด้ายทอร่วมกับฝ้าย จึงเกิดเป็น “ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะ” ต่อมาอีก 14 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนประชาชนที่บ้านห้วยห้อม จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพการทำผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะ โดยมีพระเสาวนีย์ให้หน่วยงานในท้องถิ่นเข้าไปปรับปรุงพันธุ์แกะให้มีคุณภาพ และมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียลงพื้นที่ทำการพัฒนาพันธุ์แกะ และได้จัดตั้งกลุ่ม “สตรีผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะ” สมาชิกประมาณ 51 ราย เอกลักษณ์ของที่นี่คือการทอผ้าพื้นเมืองจากฝ้ายที่ปลูกกันเองในหมู่บ้านด้วยกี่แบบผูกเอว หรือที่เรียกว่า “กี่เอว” ซึ่งยังคงเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางคณะเกษตรศาสตร์ มช. ได้เข้าไปจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้าผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม และได้รับการเห็นชอบและรับรองจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ตราสัญลักษณ์ GI เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้า เพราะสินค้าที่ขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ตราสัญลักษณ์นี้มีการควบคุมให้ทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัด และไม่สามารถแอบอ้างใช้ได้ เชื่อได้เลยว่าผู้ซื้อสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ GI จะได้รับสินค้าที่ผลิตในพื้นที่นั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ที่ใครก็ไม่สามารถเลียนแบบได้

แกลลอรี่