โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะในผู้หญิงมีความยาวเพียง 4 ซม. เพราะฉะนั้น โอกาสติดเชื้อจากบริเวณก้นเชื่อมไปยังกระเพาะปัสสาวะ และลุกลามได้ง่ายขึ้น ซึ่งในแต่ละวันพบผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบไม่ต่ำกว่า 1 - 2 ราย จากการออกตรวจผู้ป่วยนอกแต่ละครั้ง โดยผู้ป่วยมีอาการกระเพาะปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด ขุ่น หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจลุกลามติดเชื้อไปที่ไต และมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การดื่มน้ำน้อย
- การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
- การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ถูกวิธี โดย เช็ดทำความสะอาดจากด้านหลังมาด้านหน้า การสวนล้างช่องคลอด
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีภูมิที่ต่ำ
- ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
- การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
อาการ
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย
- ปัสสาวะบ่อย แต่ละครั้งไม่มาก
- อาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด
- ปัสสาวะปวดแสบ ขัด
- ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ถ่ายปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การตรวจวินิจฉัย
- ประวัติตรวจร่างกาย
- ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาว
- พบเชื้อแบคทีเรียจากการตรวจปัสสาวะโดยส่งเพาะเชื้อ
แนวทางการรักษา
- การให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3 - 7 วัน
- ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- ดื่มน้ำ
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง อาจจะไม่ตรงกับเชื้อที่ได้รับ และทำให้ดื้อยา
การป้องกันการเป็นซ้ำ
- ดื่มน้ำให้มากประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน
- หลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้ง และทำความสะอาดร่างกายทันที
- ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน
- ใช้ยาปรับฮอร์โมนแบบเฉพาะที่ เพื่อปรับสมดุลในช่องคลอด
- สามารถรับประทานยา "แครนเบอร์รี่" ได้ เพื่อป้องกันและลดการติดเชื้อ (ได้รับการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น)
ดังนั้น หากมีอาการควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ เพื่อที่แพทย์จะได้จ่ายยาตามความเหมาะสม ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะหากเชื้อไม่ตรงกับยาที่ได้รับอาจทำให้มีอาการดื้อยาได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.อัคร อมันตกุล อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่