งูสวัด อีสุกอีใสป้องกันได้ด้วยวัคซีน

1 มีนาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

โรคงูสวัด และอีสุกอีใส เป็นโรคที่พบโดยทั่วไป ซึ่งโรคนี้จะพบได้ทั้งปี และช่วงหน้าหนาวจะพบบ่อยขึ้น ไม่เพียงเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด
งูสวัด อีสุกอีใส ต่างกันอย่างไร

งูสวัด และอีสุกอีใส โรคจะไม่เหมือนกัน แต่จะเกิดจากเชื้อเดียวกัน จะเกิดขึ้นระยะต่างกันเท่านั้นเอง ซึ่งตอนแรกผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เกิดจากตุ่มใสๆที่เกิดขึ้นตามตัว ที่เรียกว่าอีสุกอีใส ต่อมาจะขึ้นเป็นแนว หากเกิดขึ้นภายหลังจะเป็นแนว เป็นเส้นจะเรียกว่าเป็นงูสวัด แต่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน

หากเกิดขึ้นแล้วจะสังเกตอย่างไรว่าคืองูสวัดหรืออีสุกอีใส
อีสุกอีใสระยะแรกมีไข้เล็กน้อย และเป็นตุ่มใสๆ ขึ้นที่ใบหน้าและลำตัว มักจะเป็นในช่วงอายุน้อย เป็นเด็ก หรือวัยรุ่น และปัจจุบันมีการพบผู้ป่วยที่เป็นอีสุกอีใสน้อยลง เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาก่อน
ระยะเป็นอีสุกอีใสจนเป็นงูสวัด

โรคนี้ติดต่อทางลมหายใจ หากไอ จาม พูดคุย ฟุ้งกระจายทางอากาศ ก็จะทำให้ติดต่อได้ เมื่อมีการติดเชื้อ เชื้อจะกระจายไปทั้งตัว และจะซ่อนอยู่โพรงประสาท แอบแฝงไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อภูมิต้านทานไม่ดี โรคจะกลับออกมาจากโพรงประสาท ออกมาตามแนวเส้นประสาทที่เลี้ยงอยู่ตามเส้นประสาท จะเกิดโรคงูสวัด สรุปได้ว่าผู้ที่เป็นงูสวัดจะมีเชื้ออีสุกอีใสซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าการเกิดโรคเมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ และโรคงูสวัดจะเกิดทุกที่ในร่างกายตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า อยู่ที่ว่าเชื้อส่วนไหนที่กำเริบขึ้นมา เมื่อหายแผลจะลึก เป็นรุนแรงกว่ามีอาการปวดแสบจนทนไม่ได้เนื่องจากโรคนี้อยู่ในเส้นประสาท หากผู้ภูมิต้านทานต่ำจะมีอาการที่รุนแรงมาก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด
ผู้ป่วยงูสวัด 859 ราย พบว่า 100 ราย(12%) เกิดภาวะแทรกซ้อนจำนวน 123 ชนิด ภายใน 60 วัน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัย ตำแหน่งของรอยโรค และผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ การรักษาด้วยยา ภายใน 48 ชั่วโมง จะได้ผลดีที่สุด โอกาสเสี่ยงต่อภาวะแรกซ้อนจะน้อย
-อาการปวดเรื้อรัง 7.9% โดยเฉพาะผู้สูงวัยมากกว่า 50 ปี
-ติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อน 2.3%
-ความผิดปกติของตา 1.6%
-ระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อผิดปกติ 0.9%
-เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 0.5%
-ความผิดปกติของหู 0.2%
-อื่นๆ ไขสันหลังอักเสบ สมองอักเสบ

สำหรับสมาคมแพทย์ผิวหนังที่อเมริกา ให้คำนิยามว่าโรคงูสวัดไม่ได้เป็นแค่ผิวหนัง โดยผู้ใหญ่ที่เป็นงูสวัด มีความเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดสมองผิดปกติ ถึง 35% อาจจะมีเส้นเลือดตีบตัน เกิดขึ้น นอกจากนี้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ 59%

วิธีการรักษา

โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด จะสามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งยาชนิดนี้จะเรียกว่าอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ซึ่งขนาดยาและระยะเวลาในการให้ยา จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับว่าเป็นโรคอีสุกอีใสหรือว่าเป็นโรคงูสวัด ซึ่งมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง รอยโรคเป็นมาก แพทย์จะทำการพิจารณายาฉีดก่อน ก่อนที่จะเป็นยารับประทาน หากอาการไม่รุนแรงก็สามารถที่จะเลือกเป็นยารับประทานได้

ในส่วนของโรคอีสุกอีใสในเด็ก โดยส่วนใหญ่จะหายได้เอง อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส ยกเว้นกรณีที่มีอาการรุนแรง นอกจากนี้จะมีการรักษาตามอาการโรคภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามหลังเป็นหลัก

การป้องกัน


-ป้องกันในเรื่องของการติดต่อ โรคอีสุกอีใส จะแพร่กระจายทางอากาศ ดังนั้นหากพบผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส ควรให้พักห้องที่มีอากาศถ่ายเทที่ดี หรือเมื่อเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล จะต้องมีการแยกให้อยู่ในห้องความดันลบ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปในอากาศ

หากเป็นโรคงูสวัด ตัวโรคงูสวัดเกิดจากการที่เชื้อไวรัสก่อตัวโรคอีสุกอีใส ถูกกระตุ้นให้กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นผู้ใหญ่ที่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใส หรือผู้ที่มีภูมิต่อโรคอีสุกอีใสและงูสวัด เมื่อสัมผัสหรือพบผู้ที่เป็นงูสวัด จะไม่ติดโรค

หากบุคคลนั้นไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่มีภูมิเกี่ยวกับอีสุกอีใสมาก่อน หรือบุคคลที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ไปพบผู้ที่เป็นงูสวัดก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคได้ แต่โรคนั้นจะไม่เกิดเป็นงูสวัด แต่จะเป็นอีสุกอีใส
ดังนั้นการป้องกันของงูสวัดอาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ห้องความดันลบ ยกเว้นกรณี รอยโรคนั้นเป็นมากหรือแพร่กระจายมาก อาจจะต้องมีการแยกผู้ป่วยเช่นกัน เหมือนกับผู้ป่วยที่เป็นอีสุกอีใส หากเป็นรอยโรค1 แถบ หรือ 1 บริเวณ ก็ไม่จำเป็นต้องแยกชัดเจน แต่ให้ระวัง พยายามหลีกเลี่ยงการไปสัมผัสบริเวณที่เป็นรอยโรค

การป้องกันการเกิดโรค

ปัจจุบันมีวัคซีนที่จะป้องกันโรคได้ ผู้ใหญ่จะได้รับวัคซีนของโรคงูสวัด ปัจจุบันมีการผลิตอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน คือวัคซีนเชื้อเป็น โดยนำเอาไวรัสของอีสุกอีใส หรือไวรัสงูสวัด ให้อ่อนฤทธิ์ลง แบบเชื้อเป็นจะฉีดแค่ 1 เข็ม ป้องกันได้อย่างน้อย 4 ปี ป้องกันการเกิดงูสวัด และชนิดเชื้อเป็นจากการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดอยู่ที่ประมาณ 51% ป้องกันในเรื่องของอาการปวดเส้นประสาท ได้ 66.5% แนะนำของการฉีดวัคซีน เชื้อเป็นให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้อายุที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการป้องกันโรค หรืออาการปวดเส้นประสาท จะลดลง และเนื่องจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็น คือการทำไวรัสที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ดังนั้นจะไม่แนะนำวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคติดเชื้อที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องทั้งหลาย ที่อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงมากๆ รวมถึงวัคซีนชนิดเชื้อเป็น จะไม่แนะนำสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร

นอกจากนั้นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะไม่แนะนำ ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำในผู้ที่เคยได้วัคซีนในโรคอีสุกอีใสในตอนเด็ก ซึ่งยังไม่แนะนำว่าจะฉีดวัคซีนเชื้อเป็นได้หรือไม่ และห้ามให้วัคซีนชนิดนี้ในผู้ที่แพ้ยาที่ชื่อว่า นีโอมัยซิน (Neomycin)

ทั้งนี้มีวัคซีนที่คิดค้นออกมาใหม่ เป็นชนิดตัดต่อพันธุกรรม เป็นการใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมจากโปรตีนของเชื้อไวรัส จะทำการฉีด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 2- 6 เดือน การศึกษาพบว่าป้องกันงูสวัดได้ประมาณ 90% ป้องกันอาการปวดเส้นประสาทได้มากกว่า 85% แนะนำในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และเนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ดังนั้นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจากภาวะต่างๆ จะสามารถฉีดได้ เพียงแต่ว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการที่รับรองการฉีดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร
นอกจากนั้นผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสแล้ว จะสามารถรับวัคซีนชนิดตัดต่อพันธุกรรมได้

ในส่วนของวัคซีนโรคอีสุกอีใส เป็นชนิดเชื้อเป็นเช่นเดียวกัน จะนำเอาไวรัสที่ก่อโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัดมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เพียงแต่ว่าไวรัสที่นำมาใช้ทำวัคซีนโรคอีสุกอีใสจะใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าวัคซีนของงูสวัด อาจจะประมาณ 14-15 เท่า ดังนั้นไม่สามารถที่จะนำวัคซีนโรคอีสุกอีใสใช้ป้องกันงูสวัด ในขณะเดียวกันไม่สามารถที่จะนำวัคซีนงูสวัดใช้ป้องกันโรคอีสุกอีใสในเด็กได้
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ป่วยมีอาการ ไม่ควรที่จะคาดเดา หรือปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามมากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.สิริ เชี่ยวชาญวิทย์ อาจารย์พิเศษ สาขาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. อ.นพ.ปรเมษฐ์ วินิจจะกูล อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

สนใจสอบถามข้อมูลวัคซีนได้ที่ศูนย์ศรีพัฒน์ โทร.053-936900 ,ศูนย์ GMC โทร.053-920666


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#งูสวัด #อีสุกอีใส
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่