แถลงการณ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชา

17 มิถุนายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานพยาบาลหนึ่งที่ได้ให้การรักษาผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาขอรับการรักษาด้วยอาการใจสั่น เวียนศีรษะคลื่นไส้อาเจียน ไม่รู้สึกตัว เห็นภาพหลอน ชัก เจ็บหน้าอก ฯลฯ บางรายมีอาการมากจนต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงออกเอกสารความรู้และคำแนะนำนี้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายชนิด สารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ และต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ เตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือทีเอชซี ซึ่งมีมากในช่อดอก
2. หลังการใช้กัญชา ผู้ใช้อาจมีการเคลื่อนไหวไม่ประสาน เดินเซ และสูญเสียการตัดสินใจที่ดี จึงห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรกล
3. การใช้กัญชาปริมาณมากและนานทำให้เกิดผลเสียต่อหลายระบบของร่างกาย เช่น พฤติกรรม (เช่น หูแว่ว ระแวง), สมอง (เช่น เชาวน์ปัญญาเสื่อม), หัวใจ (เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ) และหากใช้เป็นเวลานานก็จะเกิดการเสพติดได้
4. กัญชามีผลเสียร้ายแรงต่อเด็กและวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร บุคคลเหล่านี้จึงต้องไม่ใช้กัญชาโดยสิ้นเชิง ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงและไม่ใช้กัญชาเอง
5. กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง และสารพิษจากดินได้มาก การใช้กัญชาที่ปลูกโดยไม่มีการควบคุมคุณภาพจะทำให้ได้รับอันตรายจากสารเหล่านี้ร่วมด้วย
6. กัญชาที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มีการระบุปริมาณของสารสำคัญ และใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
7. แนะนำผู้ที่มีภาวะกัญชาเป็นพิษหรือติดกัญชาไปพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษาโดยเร็ว
8.ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกลไกการควบคุมการใช้กัญชาที่ดี ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันลดปริมาณความต้องการซื้อและขายกัญชาลง เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ


ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 17 มิถุนายน 2565

แกลลอรี่