สุขภาพดี คุณภาพชีวิตดี ด้วยศาสตร์ชะลอวัย

3 พฤษภาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

หากพูดถึงศาสตร์แห่งการชะลอวัย หรือ Anti-Aging Medicine ในความเป็นจริงมีชื่อเต็มว่า เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) เป็นการชะลอความเสื่อม โดยการป้องกันไม่ให้เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และฟื้นฟูสภาพความเสื่อมให้กลับคืนมาในส่วนที่ทำได้ โดยมุ่งหวังจะให้มีชีวิตที่ยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมีแนวทางการดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมด้วย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ anti-aging
- หลายท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องความงาม มีการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในร่างกาย
- มีสารที่ทำให้ไม่แก่ สามารถทำให้เยาว์วัยตลอดกาล
- ฉีดโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เพื่อให้ร่างกายฟิต
- บางรายคิดว่าจะทำให้อายุยาว
- การดูแลด้วยศาสตร์นี้มีราคาแพง
ในความเป็นจริง หากสังเกตในหลอดทดลอง เซลล์ของมนุษย์มีอายุประมาณ 120 ปี แต่ด้วยสภาพของอาหารที่รับประทานเข้าสู่ร่างกาย พฤติกรรมของการดำรงชีวิต และสภาพแวดล้อม ทำให้เซลล์เสื่อมลงได้ เพราะฉะนั้น การจะมีอายุยืนยาวเท่าไร หรือแม้กระทั่งการที่มีอายุยืนแล้วจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ว่าเราจะรับประทานอะไร มีความรู้สึกนึกคิดแบบไหน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศและน้ำที่สะอาดหรือไม่ หรือจะรับอะไรเข้าสู่ร่างกาย เพื่อทำให้เราสามารถมีสุขภาพที่ดีได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง แต่จะให้อายุยืนยาวไปจนถึง 120 ปี ได้หรือไม่นั้น ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ให้ถึงขณะนั้น
ระดับสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด (Optimal Health)
เป็นภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์สูงสุด ซึ่งศาสตร์นี้จะช่วยให้ผู้ที่อยากดูแลสุขภาพของตนเอง สามารถมีสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น ตามอายุและบริบทของแต่ละบุคคล
สุขภาพที่ทุกคนใฝ่ฝันเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นดังนี้
- มีสุขภาพดี
- มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
- มีความจำแม่นยำ
- มีภูมิคุ้มกันไม่บกพร่อง
- มีฮอร์โมนปกติ
ดังนั้น เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging and Regenerative Medicine) จึงเป็นการดูแล ส่งเสริมสุขภาพหรือการป้องกันโรค
ในด้านการรักษาโรคของเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น จะเป็นการรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจะให้รับประทานยาเดิมที่เคยรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่จะนำการรักษาแบบเวชศาสตร์ชะลอวัยมาเติมเต็มเข้าไปช่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
ความแตกต่างระหว่าง เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ VS การรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน คือ
เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จะเน้นการดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนป่วย เพื่อชะลอสุขภาพไม่ให้ป่วย นั่นหมายถึง สร้างสุขภาวะให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตก็ต้องดีด้วย
ศาสตร์ชะลอวัยควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่?
ควรเริ่มดูแลตั้งแต่แรกเกิด หากไม่ได้เริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย ดูแลไม่ทัน สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้จะดีกว่าที่ไม่ได้เริ่มต้นดูแลเลย ถึงจะทำให้ชะลอวัยได้นาน หากพูดถึงกลไกความเสื่อมในของร่างกายมนุษย์ทุกคน จะมีทฤษฎีมากมายหลายหลักการ เช่น สารอนุมูลอิสระ (oxidant), ฮอร์โมนพร่อง, การสร้างหรือซ่อมแซม DNA ที่ผิดปกติ เป็นต้น
ตัวอย่าง หากร่างกายมีสารอนุมูลอิสระ (oxidant) ในร่างกายเป็นจำนวนมาก อาจจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ ร่างกายจะเกิดการเผาผลาญ เพื่อทำลายสารพิษ ส่งผลให้มีสารอนุมูลอิสระในร่างกายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก กระบวนการอักเสบจะเกิดขึ้นตามมา หากใครที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ในปริมาณที่สูงและพอเหมาะ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในรูปของสารที่สามารถยับยั้งการเกิดสารอนุมูลอิสระ จะส่งผลให้สารอนุมูลอิสระทำงานได้อย่างสมดุล ทำให้สารตกค้างที่เป็นของเสียจากกระบวนการเผาผลาญมีน้อยหรือไม่มี ส่งผลให้กระบวนการการอักเสบเกิดขึ้นน้อย ร่างกายก็จะเสื่อมช้า แต่หากใครที่มีสารต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงพอ กระบวนการอักเสบจะเกิดขึ้นมาก ทำให้ร่างกายเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว
สารอนุมูลอิสระ (oxidant) มาจากไหนบ้าง?
- ความเครียดด้านร่างกาย เช่น อดนอน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ออกกำลังกายแบบหักโหม มีความเจ็บป่วย
- ความเครียดทางด้านจิตใจ
- การได้รับสารเคมี หรือมลภาวะ เช่น PM2.5
- อาหารขยะ อาหารทอด ฟาสต์ฟูด อาหารที่ผ่านการแปรรูป อาหารแช่แข็งหรืออาหารที่มีสารอาหารที่มีความจำเป็นหลงเหลือน้อย
ปัจจัยที่มีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมน
- อายุที่มากขึ้น (เป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)
- อาหาร
- อาหารเสริม (ควรมาจากแหล่งธรรมชาติก่อนและเลือกชนิดที่มีสารอาหารสูง)
- การออกกำลังกาย
- การนอน
- ความเครียด
- ความเจ็บป่วย
- การได้รับยาหรือสารเคมี
- การได้รับสารพิษหรือโลหะหนัก
สร้างร่างกายให้ไม่เสื่อมก่อนวัย ด้วย 4 หลักการสำคัญของศาสตร์ชะลอวัย
1. เลือกสารอาหารที่ดี
2. นอนให้มีประสิทธิภาพ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ลดความเครียด
คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร (สำหรับผู้ที่มีข้อห้ามบางอย่างเฉพาะ)
- รับประทานอาหารให้เป็นเวลา
- ไม่รับประทานมื้อดึก
- มื้อเช้ารับประทานให้มาก มื้อเย็นรับประทานให้น้อย
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ
- ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล
- เลือกชนิดของอาหาร (ให้เลือกออร์แกนิก คือ ผลผลิตจากการเกษตร ที่ผ่านกระบวนการผลิตปลอดสารเคมีทุกชนิด ที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หรือไม่รับประทานอาหารแปรรูป)
- จัดสัดส่วนของหมวดอาหารให้พอเหมาะ โดยใช้สัดส่วน (2 : 1 : 1) คือ ผักใบ 2 ส่วน ข้าวแป้ง 1 ส่วน และเนื้อสัตว์หรือโปรตีน 1 ส่วน
นอนดี นอนอย่างไร?
- ควรเข้านอน และตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด
- ไม่ควรงีบในเวลากลางวัน หากนอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที และไม่ควรงีบหลัง 15.00 น.
- หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่มีรสจัด หรือรสเผ็ด หรืออาหารหวานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
- เตียงนอนควรเป็นเตียงที่นอนแล้วสบาย มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอดเข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง
- ควรผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ไม่ควรดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญก่อนนอน
- ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอน และกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้ห้องนอน และเตียงนอนเป็นที่ทำงาน เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือดูโทรทัศน์
- หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอนขึ้นมาทำกิจกรรมเบาๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อรู้สึกง่วง
- รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้า อย่างน้อย 30 นาที ทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ
วิธีลดความเครียด (การจัดการความเครียดเฉพาะรายบุคคล ควรเลือกกิจกรรมที่ผ่อนคลายและชื่นชอบ ไม่ต้องใช้ร่างกายและสมองเยอะขณะทำ)
ตัวอย่างกิจกรรม เช่น
- นั่งสมาธิ
- ดูหนังที่ผ่อนคลาย เลี่ยงการดูหนังตื่นเต้น หนังสยองขวัญ หรือหนังดราม่า
- ฟังเพลงเพราะๆ
- อ่านหนังสือ
- ทำงานอดิเรก
- ทำงานศิลปะ
- นอนหลับ
- ไปเที่ยว
- ทำกิจกรรมตามความสนใจเฉพาะบุคคล
สรุปการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยวิธี 3อ 2ส 1น เพื่อให้ร่างกายมีการชะลอวัย คือ
- 3อ คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย
- 2ส คือ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
- 1น คือ นอน
อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองได้ทั้งหมดแล้ว ควรดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ความเครียดจากสิ่งแวดล้อมนั้นมากระทบกับตัวเอง เช่น เพื่อน สังคม และบุคคลรอบข้าง ดังนั้น ควรจัดการกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวและปรับทัศนคติ เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมด้วยศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพตลอดไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ.นลินี ยิ่งชาญกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่