วาเลนไทน์นี้ มากกว่าการบอกรัก มาเริ่มต้นดูแลหัวใจของคุณและคนที่คุณรักกันเถอะ

14 กุมภาพันธ์ 2565

คณะแพทยศาสตร์


“แม้หัวใจจะมีไว้รักได้มากกว่าหนึ่งคน แต่หัวใจของคนหนึ่งคนก็มีเพียงแค่หนึ่งเดียว” ด้วยเหตุผลสำคัญนี้เราจึงต้องทะนุถนอมหัวใจของเราให้แข็งแรง เพราะการมีหัวใจที่แข็งแรงจะช่วยทำให้เรามีชีวิตอยู่กับคนที่รักไปได้อีกนาน

หัวใจเปรียบเสมือนปั๊มน้ำ ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดกลับจากปอด ปั้มและส่งเลือดที่ดี ที่มีคุณภาพ ผ่านการฟอกเลือด ฟอกอากาศ กรองเชื้อโรคแล้ว นำออกไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย หัวใจของเราทำงานแบบนี้ตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง แม้กระทั่งตอนนอนหลับขณะที่อวัยวะอื่นพักผ่อน กล้ามเนื้อหัวใจก็ยังคงทำงาน

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้หัวใจเกิดอันตรายหรือเกิดโรคนั้น แยกผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 70 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ไปจนถึงช่วงวัยรุ่น

กลุ่มแรกผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 70 ปี ขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงคืออายุที่เพิ่มมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นโรคความดันโลหิตสูง มักพบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวอย่างยิ่งต่อหัวใจ

กลุ่มต่อมาผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี จนถึงช่วงวัยรุ่น ปัจจัยเสี่ยงคือการนั่งอยู่เฉยๆ หรือการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งอยู่กับที่ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sedentary เป็นพฤติกรรมประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน นอนเล่นโทรศัพท์มือถือติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ซึ่งพฤติกรรมของคนยุคใหม่เหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆในระยะยาว ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

หากลองนึกภาพเปรียบเทียบหัวใจและหลอดเลือดเหมือนยางหนังสติ๊ก เวลาที่ได้ออกแรง ยืดหยุ่น เคลื่อนไหว ยางหนังสติ๊กนั้นก็จะนุ่มนวล ทำงานได้ดีตามปกติ กว่าจะขาดก็ใช้เวลา แต่ตรงกันข้ามหากเราเก็บยางหนังสติ๊กไว้กับที่เป็นเวลานาน ยางก็แห้ง กรอบ พอนำมาดึงก็ขาดได้ง่าย ดังนั้นการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับแนวทางในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ นอกจากการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ เสริมผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันที่ดีต่อสุขภาพในทุกวัน หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันทรานส์และอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูง เพราะโรคอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และโรคเรื้อรังต่างๆตามมาได้อีกด้วย

ฝากทิ้งท้ายสำหรับเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากเป็นวิธีที่จะทำให้เราได้รู้จักร่างกายของตนเองว่ามีจุดผิดปกติจุดไหนหรือไม่ และหากพบอาการผิดปกติในช่วงระยะเริ่มแรก ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น เพราะการที่เราและคนที่เรารักมีสุขภาพหัวใจที่ดีไปด้วยกัน เป็นของขวัญที่พิเศษที่สุดในวาเลนไทน์นี้แล้ว

ข้อมูลโดย : อาจารย์แพทย์หญิง ทรรศลักษณ์ ทองหงส์ อาจารย์ประจำศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียงโดย : ฟ้า ธัญญลักษณ์ สดสวย
นักประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

ติดตามผ่านช่องทาง
Facebook : https://cmu.to/uIWxr
Website : https://cmu.to/g1jOo
Blockdit : https://bit.ly/3rOyvhc
Telegram : https://bit.ly/3BgTWue
Twitter : https://bit.ly/3rM0gqB
Line@MedCMU : https://bit.ly/3Bh6WzY
Instagram : https://bit.ly/3HOaQD3
แกลลอรี่