อาการผิดปกติจากการนอนที่ไม่มีคุณภาพ

24 กันยายน 2563

คณะแพทยศาสตร์

การนอนหลับเป็นการที่ร่างกายให้เวลากับตัวเอง 1 ใน 3 ของชีวิตทั้งหมดเพื่อปรับสมดุลร่างกาย รวมถึงการให้เวลากับอวัยวะภายในร่างกายได้พัก ทั้งหัวใจ หลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ น้ำย่อย ฮอร์โมน จึงถือเป็นช่วงเวลาทองในการปรับสมดุลชีวิตให้กับตัวเอง หากมีการรบกวน นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ช่วงเวลาทองที่ร่างกายต้องการปรับสมดุลก็อาจจะทำให้เกิดโรคได้ การนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการตามอายุ เด็กแรกเกิดต้องการนอนมากกว่า 10-16 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน 8-10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7-8 ชั่วโมง และวัยสูงอายุควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง

ปัจจุบันเราพบว่าการนอนไม่เพียงพอและการนอนแบบไม่ต่อเนื่องสัมพันธ์กับโรคทางกาย ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การดื้ออินซูลิน โรคเบาหวาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ช่วงเวลาทองสะดุด การฟื้นฟูร่างกายก็จะเกิดปัญหาและเกิดโรคได้ การนอนเหมือนร่างกายได้ชาร์จแบตเตอรี่ดังนั้นถ้าเรานอนหลับไม่ดีในช่วงกลางคืน จะมีผลในช่วงเวลากลางวันตามมา

ในวัยเด็ก เด็กจะไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ง่วงนอน ในวัยทำงาน ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะรู้สึกนิ่งเฉย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อาจกลายเป็นคนซึมเศร้า ในวัยสูงอายุ จะมีอาการภาวะสับสน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เราจะเห็นว่าการนอนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพการนอนหลับ และสุขภาพชีวิต

ผลกระทบจากการนอนไม่หลับ

นอนกรน
ปวดศรีษะ หรือมึนศรีษะหลังตื่นนอน
ตื่นนอนไม่สดชื่น
ความดันโลหิตสูง
มีความง่วงผิดปกติระหว่างวัน หรือง่วงหลับในขณะทำกิจกรรม เช่น ขับรถ นั่งประชุม
มีสมาธิลดลงระหว่างวัน
นอนไม่หลับ..ต้องทำอย่างไร

เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน
บรรยากาศในห้องควรเงียบ สงบ สบาย ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวน
งดการออกกำลังกายก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
หลีกเลี่ยงการดูภาพยนตร์ตื่นเต้น หรือสยองขวัญก่อนนอน
ใช้ห้องนอนเพื่อการนอนหลับเท่านั้น
ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ก่อนนอน
หากทำครบทุกข้อแล้วยังนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ไม่ควรพยายามหลับตา ควรลุกจากที่นอนหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ และกลับมานอนเมื่อรู้สึกง่วงอีกครั้ง

ส่วนการทานยานอนหลับ เป็นการกลบปัญหา ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโดยตรง และโรคที่เป็นสาเหตุของการนอนหลับก็ยังอยู่ เนื่องจากยานอนหลับเป็นยาเสพติด มีฤทธิ์ทำให้ติด เมื่อติดแล้วต้องใช้ต่อ และใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนายานอนหลับให้ปลอดภัยมากขึ้น ฤทธิ์ตกค้างน้อยลงก็ตาม แต่อันตรายแฝงของยาทำให้สูญเสียโอกาสที่แพทย์จะมองหาโรคซ่อนเร้นที่เป็นเหตุทำให้นอนไม่หลับ

สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนควรให้ความสำคัญกับการนอน และการนอนที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยเวลานอนที่เพียงพอ เวลานอนที่เหมาะสม และการนอนที่มีคุณภาพ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่ให้ความสำคัญกับการนอนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย จิต และคุณภาพชีวิต

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ รายการสุขภาพดีกับหมอสวนดอก https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/286445605770112/

ข้อมูลโดย รศ.นพ.ธีรกร ธีรกิตติกุล หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจเวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
แกลลอรี่