เมื่อผู้ป่วยมีอาการลักษณะเวียนหัวบ้านหมุน เมื่อมาพบแพทย์ สิ่งแรกที่แพทย์จะสอบถามคือผู้ป่วยมีลักษณะอาการอย่างไร เพราะการเวียนหัวบ้านหมุนนั้นมักจะมีอาการที่หลากหลายด้วยกัน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหูและการทรงตัว
โครงสร้างของหู
หูประกอบด้วยส่วนต่างๆ 3 ชั้นด้วยกัน คือ
1.หูชั้นนอก(ใบหู ช่องหู แก้วหู)
2.หูชั้นกลาง(มีแก้วหูกั้นระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง โดยหูชั้นกลางจะมีกระดูกหูทั้ง 3 ชิ้น ช่วยขยายนำเสียงเข้าสู่หูชั้นใน)
3.หูชั้นใน(ทำหน้าที่ 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วนที่ 1.ทำหน้าที่รับฟังเสียง ลักษณะเหมือนก้นหอย 2.ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว) ซึ่งบริเวณหูชั้นในประกอบด้วยของเหลวหรือน้ำอยู่บริเวณด้านใน
นอกจากนี้อวัยวะที่ช่วยในการทรงตัวได้แก่สมอง สายตาการมองเห็น กล้ามเนื้อแขนขา ระบบหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง เพราะฉะนั้นการจะทรงตัวได้อวัยวะทั้งหมดทุกอย่างต้องทำงานประสานกันเป็นอย่างดี เมื่อไรก็ตามที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทำงานได้ไม่ดีก็อาจจะมีอาการเวียนหัวได้ เนื่องจากบ้านจะหมุนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับโรคด้วยเช่นกัน
อาการเวียนศีรษะ
•ลักษณะอาการเวียน
-เวียนบ้านหมุน ตาจะกระตุก
-เวียนมึน
-หน้ามืด
-ใจสั่น
-วูบ
ระยะเวลาเวียนศีรษะในแต่ละครั้ง นานหรือไม่ มีอาการร่วมอื่นๆหรือไม่ เพื่อแพทย์จะได้ซักถามและวินิจฉัยได้ถูกต้อง
นอกจากนี้แพทย์จะซักถามว่ามีอาการอย่างอื่นหรือไม่ เช่น
-อาการทางหู เช่น เจ็บหู ปวดหู หนองออกทางหู ฯลฯ
-อาการทางระบบประสาทสมอง เช่น ชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก
-อาการทางตา เช่น มองเห็นภาพซ้อน กรอกตาไม่สุด
•ปัจจัยกระตุ้น เช่น ล้มตัวลงนอนยังมีความรู้สึกว่ามีอาการเวียนหัวบ้านหมุน
•ปัจจัยอะไรที่ทำให้อาการเวียนดีขึ้น เช่น อยู่นิ่งแล้วอาการดีขึ้น หรือทานยาแก้เวียนศีรษะ
***ทั้งหมดนี้จะเป็นการประกอบการวินิจฉัยโรค
โรคเวียนศีรษะที่เกิดจากหู ตัวอย่างโรค
-หินปูนหูชั้นในหลุด
-น้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน
-เส้นประสาทหูส่วนทรงตัวอักเสบ
-ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
(มีโรคทางหูอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเวียนศีรษะ)
โรคเวียนศีรษะที่เกิดจากหู หินปูนหูชั้นในหลุด
-เวียนบ้านหมุนสัมพันธ์กับท่าทาง
-ระยะเวลาไม่นาน(วินาที)
-ไม่มีอาการทางหูอื่น
-ไม่มีอาการทางระบบประสาทสมอง
****ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์พบว่าหินปูนหูชั้นในหลุด แนะนำให้ทำการรักษาโดยแพทย์
โรคเวียนศีรษะที่เกิดจากหู น้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน
-เวียนบ้านหมุนซ้ำๆ หลายครั้ง แต่ละครั้งนานเกิน 20 นาที
-รู้สึกแน่นในหู หรือเสียงรบกวนในหู และได้ยินลดลงข้างเดียว
•ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
พฤติกรรมการพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ รวมถึงการรับประทานอาหารโซเดียมสูงหรืออาหารรสจัด
โรคเวียนศีรษะที่เกิดจากหู เส้นประสาทหูส่วนทรงตัวอักเสบ
-เวียนหมุนฉับพลัน เวียนศีรษะนานเป็นวันๆ ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้
-การได้ยินปกติ
โรคเวียนศีรษะที่เกิดจากหู ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
-เวียนศีรษะ และมีการติดเชื้อในหู ปวดหู หนองไหลจากหู
เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์
-เวียนศีรษะไม่หาย
-เวียนศีรษะรุนแรง
-เวียนศีรษะและมีอาการร่วมด้วย
***อาการทางระบบประสาทสมอง เช่น ชา อ่อนแรง หน้าเบี้ยว มองเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะ
***อาการทางหู ปวดหู หนองไหลจากหู การได้ยินลดลง เสียงรบกวนในหู แน่นหู
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.พญ.ศณัฐธร เชาวน์ศิลป์
อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่