คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุน พร้อมติดตั้งเครื่องฉายรังสีรุ่นใหม่ล่าสุด คือ “Radixact X9” ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดถึง 100-120 รายต่อวัน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจำนวนเครื่องฉายรังสีชนิดเกลียวหมุน ศูนย์ฉายรังสีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมก้าวสู่ศูนย์ฉายรังสีชนิดเกลียวหมุนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “การสนับสนุนให้บริการเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนรุ่นใหม่ล่าสุด คือ “Radixact X9” นั้น เป็นการเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฉายรังสีของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยวิธีฉายรังสี ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้น และลดระยะเวลาการรอคอยการเข้ารับบริการฉายรังสี ขณะนี้หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. มีเครื่องฉายรังสีทั้งหมด 4 เครื่อง โดยเป็นแบบเกลียวหมุนจำนวน 3 เครื่อง จึงนับได้ว่าเป็นศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งเดียวในประเทศไทยและมีจำนวนเครื่องฉายรังสีเกลียวหมุนมากที่สุดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้นำเครื่องฉายรังสีที่เป็นโมเดลแบบเกลียวหมุน (Tomotherapy) มาให้บริการผู้ป่วย โดยติดตั้งเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และล่าสุดในปี พ.ศ. 2566
ได้เพิ่มเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนรุ่นใหม่ล่าสุด คือ “เครื่อง Radixact X9” ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด ใช้เวลาการฉายรังสีสั้นลงกว่าเดิม โดยมาพร้อมกับระบบ “Synchrony” ที่ช่วยติดตามการเคลื่อนไหวของก้อนมะเร็งในระหว่างการฉายรังสี ขณะนี้ หน่วยรังสีรักษามีเครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่ทันสมัยสูงสุดและมีจำนวนพร้อมให้บริการ 3 เครื่อง เรียกได้ว่าศูนย์ฉายรังสีรักษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น “ศูนย์เครื่องฉายรังสีแบบเกลียวหมุนที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 100-120 รายต่อวัน นับเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าทางรังสีรักษามากที่สุดในภาคเหนือและในประเทศไทย โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการรอคอยเข้ารับบริการฉายรังสี จากเดิมที่ต้องรอนานมากกว่า 2 เดือน เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น
จากการเปลี่ยนแปลงกายภาพและระบบต่างๆมากมาย ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงก้าวไปสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจ” โดยศูนย์ฉายรังสีแบบเกลียวหมุนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์ที่ส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างชัดเจน
ด้านผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ประสิทธิภาพของทีมหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. นั้นนอกเหนือจากศักยภาพด้านบุคลากรและอุปกรณ์ที่ทางหน่วยรังสีรักษาได้ให้บริการผู้ป่วยแล้ว ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยที่ครบวงจรและได้มาตรฐานสากล โดยการันตีด้วยรางวัลต่างๆ ดังนี้ รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติระดับดีเด่น (กพร.) ในปี พ.ศ.2558 จากการทำระบบนัดคิวฉายรังสี ออนไลน์ ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการรอคอยในการมารับคิวฉายรังสี และลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย, รางวัลจาก Union for International Cancer Control (UICC) จากคุณภาพการให้บริการการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะกระจาย โดยเป็นหนึ่งใน 20 องค์กรจาก 18 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรางวัล นอกจากนี้ ยังผ่านการรับรองคุณภาพหน่วยบริการทางรังสีรักษา (QUATRO) จากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และยังผ่านการประกันคุณภาพการรับรองเฉพาะโรค (Disease Specific Certification) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นแห่งแรกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย ในปีพ.ศ.2561 และได้รับการรับรองซ้ำ (re-accredit) ในปี พ.ศ.2565 โดยทางหน่วยรังสีรักษาร่วมกับหน่วยศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้ร่วมกันเป็นผู้นำในการจัดทำระบบการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษาโรคทุกระยะอย่างมีมาตรฐานและรวดเร็ว รวมถึงการตรวจติดตามต่อเนื่องหลังการรักษา และการให้ความรู้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปในเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมได้อย่างถูกต้อง โดยเป็นระบบการให้บริการรักษามะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด สามารถเป็นแบบอย่างให้กับสถาบันอื่นได้
จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่เรียกว่า Cancer Anywhere มะเร็งรักษาได้ทุกที่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รัฐใดก็ตามต้องการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เปิดรับผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับการรักษา ทำให้ในขณะนี้ผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้ารับการฉายรังสีได้อย่างรวดเร็ว หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉายรังสี เป็นการเพิ่มความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยการฉายรังสีได้อีกด้วย”
ผศ.พญ.พิชญาภรณ์ กลั่นกลิ่น หัวหน้าหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “รังสีรักษาเป็นการฉายรังสีเอ็กซเรย์พลังงานสูงไปที่ตัวผู้ป่วยเพื่อรักษาโรค (เอ็กซเรย์ที่ใช้ถ่ายภาพรังสีเป็นแบบพลังงานต่ำ) ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เป็นการรักษาหลัก หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือเคมีบำบัดก็ได้ มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคมะเร็งทั่วทั้งร่างกาย ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีเครื่องฉายรังสีในการให้บริการจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ส่งผลให้ต้องรอคิวเพื่อเข้ารับการรักษาค่อนข้างนาน
นอกเหนือจากการมีเครื่องฉายรรังสีที่ทันสมัยให้บริการหลายเครื่องแล้ว หน่วยรังสีรักษายังมีอาจารย์แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาที่คอยให้บริการทั้งหมด 8 ท่าน โดยอาจารย์ทุกท่านมีความเชี่ยวชาญทางการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษาเป็นอย่างดี และแต่ละท่านยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาโรคมะเร็งในแต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไป โดยครอบคลุมโรคมะเร็งทุกชนิดที่มีข้อบ่งชี้ต้องรับการฉายรังสี รวมถึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการฉายรังสีด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น รังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiotherapy) การฉายรังสีทั้งตัว (total body irradiation) และรังสีระยะใกล้หรือการใส่แร่ (Brachytherapy) โดยผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรคมะเร็งหรือเทคนิคพิเศษนั้นๆ ด้วย”