“เล็บ” ผิดปกติ สัญญาณบอกโรคได้จริงหรือ
19 กรกฎาคม 2565
คณะแพทยศาสตร์
นอกจากเรื่องของเส้นผมแล้ว ยังมีเรื่องเล็บที่หลายคนให้ความสำคัญในการดูแลรักษา และคอยแต่งเติมความสวยงาม ความหลากหลายของสีสัน และแฟชั่น เช่นการทำเล็บ ที่เป็นที่นิยมในบรรดาสาวๆ แต่หารู้ไม่ว่าเล็บก็สามารถบ่งบอกอาการของโรคที่เรากำลังจะเป็นอยู่ได้ หากทาสีเล็บไว้ตลอดก็ไม่สามารถที่จะสังเกตลักษณะของเล็บได้ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การพักเล็บเพื่อสำรวจความผิดปกติของเล็บนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ควรทำ โดยทางการแพทย์นั้นเล็บอาจเปรียบเหมือนหน้าต่างที่บอกถึงความผิดปกติของอวัยวะได้
เล็บทำหน้าที่
ป้องกันนิ้ว เมื่อเกิดการกระแทกจะต้องกระทบกับเล็บก่อน ใช้ทำงาน รับรู้ความรู้สึกและช่วยให้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของได้ดี
สัญญาณบอกโรคจากเล็บ
เนื่องจากมีหลายโรคเกิดความผิดปกติที่เล็บ เพราะฉะนั้นหากพบความผิดปกติที่เล็บ ก็สามารถทราบสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไร โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
-โรคอยู่ไกลจากเล็บ สามารถวินิจฉัยทางอายุรศาสตร์ เช่นหัวใจ ปอด ไทรอยด์ เป็นต้น
-โรคนั้นอยู่บริเวณโดยรอบเล็บ อาจจะเกิดบริเวณโคนเล็บ หรือตัวเล็บ
ลักษณะของเล็บที่ปกติ
โค้ง ผิวเรียบมัน สีใส ไม่มีจุด ไม่มีรอยขีด เล็บไม่เปราะ ไม่ฉีก เนื้อเยื่อรอบเล็บแดง สุขภาพดี เล็บจะสร้างจากโคนเล็บ ค่อยๆงอก และจะต้องติดกับฐานเล็บ หากผิดปกติไปจากนี้แสดงว่า เล็บผิดปกติ เช่น ลักษณะเหล่านี้จะบ่งบอกโรคทางอายุรกรรม
-นิ้วที่มีลักษณะปุ้ม หัวเหมือนไม้ตีกลอง ลักษณะเช่นนี้จะมีโรคเยอะเลย เช่นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด หรือโรคทางอายุรกรรม ผู้ป่วยจะพบแพทย์อายุรกรรมเป็นส่วนใหญ่
-เล็บเป็นรูปช้อน เกิดจากขาดธาตุเหล็ก
-เล็บเป็นจุดรูเล็กๆ เหมือนเข็มจิ้มลงไป อยู่บนเล็บ ถือว่าผิดปกติ เช่น เป็นโรคสะเก็ดเงิน
-เล็บสร้างน้อยลง ปกติอัตราสร้างเล็บจะมีระดับหนึ่ง แต่ร่างกายสร้างเล็บน้อยลง ทำให้เกิดรอยบุ๋มขึ้นมา จึงทำให้เป็นรอยขีดที่เกิดจากเล็บบางเป็นแนวขวาง ภาวะนี้บ่งบอกโรคไทรอยด์ ไตทำงานน้อยลง ผิดปกติ โรคซิฟิลิส และการอักเสบติดเชื้อ
-เล็บสีขาว เรียกว่าดอกเล็บ ขาวทั้งเล็บ ที่ไม่ใช่เกิดการทาสีเล็บ หรือเป็นรอยขีดสีขาวตามแนวขวาง หรือแนวยาว
-เล็บเหลือง จะพบได้หลายโรค เช่นโรคปอด โรคที่เกี่ยวกับต่อมระบบน้ำเหลือง เป็นต้น
-ปลายเล็บร่น ปกติเล็บจะยึดติดกับฐานเล็บ จะเห็นว่าเล็บเป็นสีแดงสุขภาพดี แต่หากเล็บไม่ติดกับฐานเล็บจะเป็นเล็บร่นตรงปลาย จะเป็นขาวๆ เพราะเล็บไม่ติดกับฐานเล็บ อาจจะเป็นเชื้อรา โรคสะเก็ดเงิน และไทรอยด์เป็นต้น
โรคที่บ่งบอกทางศัลยศาสตร์
-รอยขีด หรือแถบดำที่เล็บ เป็นแนวยาวตลอดเล็บ ตั้งแต่โคนถึงปลายเล็บ รอยขีดนี้อาจจะหนา 1-5 มิลลิเมตร หรือเต็มทั้งเล็บ ลักษณะนี้เหมือนเป็นไฝที่โคนเล็บ ส่วนใหญ่สีดำฝังอยู่ในเล็บเมื่อเปิดเล็บออกมา ก็จะไม่เห็นสีดำตลอดแนว จะเห็นแค่โคนเล็บเหมือนเป็นไฝที่โคนเล็บ สามารถถอดเล็บออกได้ หากมีแถบและมีลักษณะบางอย่างที่ต้องระวัง สามารถป้องกันได้ สังเกตได้โดย แถบที่เป็นไฝจะตรง แต่เมื่อไหร่ก็ตามขอบเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น จะเป็นหยักไม่ตรง หากมีลักษณะเช่นนี้ ให้ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ เพื่อตัดเนื้อเล็บไปตรวจ หากเป็นตลอด เล็บดำไปหมดทั้งเล็บ หรือมีลักษณะเป็นแผลจนกินกัดเล็บ ควรที่จะพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ นอกจากนี้สีเกินขอบเล็บไปที่โคนดำ หรือสีดำล้ำเกินปลายเล็บ ไปถึงผิวเล็บ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว ให้สังเกตเมื่ออายุมาก สามารถเป็นมะเร็งได้ ให้สังเกตประวัติครอบครัว
แพทย์ทำการตรวจอย่างไรบ้าง
-แพทย์จะถอดเล็บออก เพื่อดูสีที่ติดในเล็บ ไฝจริงๆจะอยู่โคนเล็บ สามารถตัดส่งตรวจได้ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ บางรายเป็นปื้น แพทย์จะทำการเฉือนเล็บบางส่วนทำการส่งตรวจเพื่อเช็คว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
หากพบความผิดปกติที่เล็บต้องทำอย่างไร
อย่างแรกต้องพบอายุรแพทย์ก่อน เมื่อติดเชื้อราที่เล็บ ปลายเล็บร่นออกมา มีหลายระยะ ระยะแรกๆปลายเล็บร่น เมื่อเป็นมากขึ้นจะทำการตัดเล็บเรื่อยๆจนเล็บถูกทำร้ายตั้งแต่ปลายเล็บไป กลุ่มนี้อายุรแพทย์จะเป็นผู้รักษาก่อน 25 เปอร์เซ็นต์ 1 ใน 4 ที่ไม่หาย แพทย์จะส่งมาให้ศัลยแพทย์รักษา เพื่อถอดเล็บออก และขูดเนื้อเยื่อใต้เล็บ และส่งให้อายุรแพทย์ทายาต่อ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เป็นเล็บร่น เชื้อรา จะเห็นว่าสีเล็บจะเปลี่ยน จากสีใสอมชมพู เป็นสีดำ สีเขียว เล็บจากที่บางกลับหนาขึ้น หรือปลายเล็บเปราะแตกหักง่าย สีรอบๆเล็บเปลี่ยนเป็นสีซีดหรือสีเหลือง เล็บแห้ง เป็นสะเก็ดรอบๆเล็บเป็นสะเก็ด มีกลิ่น ทั้งหมดนี้สามารถพบอายุรแพทย์โรคผิวหนังได้
การรักษา
-แพทย์จะทายา หากไม่หายต้องทานยา
-หากไม่หาย อายุรแพทย์จะส่งให้ศัลยแพทย์เพื่อถอดเล็บ และทายาให้ดีขึ้น
เล็บที่เกิดบาดแผล เกิดจากอะไรบ้าง
-ร่องที่เล็บ หากมีเส้นเป็นร่องเป็นขีด กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีห้อเลือดที่เล็บ และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้เกิดร่องที่เล็บในระยะต่อไปได้
-เล็บขบ เกิดจากปลายเล็บจิกเนื้อเยื่อข้างๆ ทำให้เชื้อโรคฝังเข้าไปที่แผล เกิดการอักเสบ บวมแดง
-เล็บผิดรูป ผิดปกติ ทำให้จิกเนื้อเล็บเกิดบาดแผล
สาเหตุ
-กรรมพันธุ์
-การใส่รองเท้าแน่นเกินไป
-เกิดอุบัติเหตุ
-เล็บมีการบาดเจ็บ ผิดรูปร่าง
-การตัดเล็บที่ผิดปกติ ถูกเนื้อข้างๆทำให้เกิดบาดแผล
วิธีการป้องกัน และรักษาเล็บ
หากเป็นโรคทางอายุรศาสตร์ ให้หาสาเหตุเพื่อรักษาโดยเร็ว หากเป็นโรคทางติดเชื้อให้ทายา เมื่อสงสัยว่าเป็นเชื้อราให้รีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาแต่เบื้องต้น และหมั่นสำรวจเล็บตัวเองว่าเล็บผิดปกติหรือไม่ เช่น เมื่อมีเล็บที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวก็ผิดรูปร่าง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ปรากฎว่าเมื่อผู้ป่วยไปตรวจเพิ่มเติมพบว่า มีซีสต์จากข้อ และกดแล้วเจ็บ ทำให้เล็บผิดรูปร่างได้ อาจจะมีก้อนเนื้อใต้ในเล็บแล้วทำให้เจ็บปวดได้
สำหรับผู้ที่ถูกประตูหนีบมือ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ ไม่ให้เลือดออก เมื่อเกิดการห้อเลือด เล็บอาจจะฉีก ให้รีบประคบเย็น ใน 72 ชั่วโมงแรกคือให้เอาความเย็นประคบ ให้เส้นเลือดหดตัวเพื่อให้เลือดออกน้อยลง หลังจากนั้นให้สังเกตว่าเล็บเผยอหรือไม่ หากเผยอให้พบแพทย์เพื่อเช็คว่าแตกหรือไม่และทำการเอกซเรย์ เพื่อวินิจฉัยว่ากระดูกแตกหรือไม่ เพื่อทำการรักษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม หมั่นสังเกตความผิดปกติของเล็บอยู่เสมอ เมื่อมีความผิดปกติที่เล็บ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรที่จะรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ เพื่อแพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:อ.นพ.โอภาส พิณไชย หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่