วูบ หน้ามืด สัญญาณอันตราย ที่ไม่ควรมองข้าม

23 พฤษภาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

ภาวะวูบ เป็นอาการที่อาจเคยเกิดขึ้นกับหลายคน เช่น การวูบ หน้ามืด ในขณะที่รีบลุกขึ้นยืน หรือเมื่ออยู่กลางแดดนานๆ ในทางการแพทย์เรียกว่า "ภาวะหมดสติชั่วครู่" ภาวะเหล่านี้ มีสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง หากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองจะไม่ทำงาน ไม่สามารถรับรู้ พูดคุย หรือทรงตัวได้ จึงทำให้ล้มลงไป โดยจะหายได้เอง และมีสาเหตุมาจากความดันต่ำชั่วครู่ ภาวะผิดปกติจากโรคทางหัวใจ หรือเป็นภาวะอื่นๆ ที่มารบกวนระบบไหลเวียนโลหิต และจะกลับมาเป็นปกติในเวลาอันสั้นเรียกว่า "ภาวะหมดสติชั่วครู่"

ภาวะอื่นที่คล้ายคลึงกับภาวะหมดสติชั่วครู่ ได้แก่
1. โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ
2. อาการที่เกิดจากพิษของยาหรือสารบางชนิด เช่น สุรา หรือยาบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อที่มีผลร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือดื่มแอลกอฮอล์แล้วความดันลดลง ก็มีภาวะคล้ายหมดสติชั่วครู่ได้เช่นกัน
3. ภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง
4. โรคลมชัก

สาเหตุของภาวะหมดสติชั่วครู่ มี 3 กรณีหลัก ได้แก่
1. ระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง เกิดในผู้ที่มีอายุน้อย
2. ความดันโลหิตลดต่ำลงขณะยืน
3. โรคทางระบบหัวใจ และหลอดเลือด (พบเพียงร้อยละ 20)

โดยปกติ ความดันเลือดที่หล่อเลี้ยงสมอง จะถูกกำหนดด้วยปริมาณเลือดที่หัวใจสูบฉีดออกไป ร่วมกันกับการปรับตัวของหลอดเลือดแดง เพื่อกำหนดแรงดันไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป หากมีปัญหาต่อทั้งสองอวัยวะนี้ ก็จะมีผลต่อระดับความดันโลหิต จนอาจเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วครู่ และภาวะหมดสติชั่วครู่ในที่สุด
เนื่องจากการทำงานของระบบควบคุมนี้อาศัยระบบประสาทอัตโนมัติ หากสูญเสียการควบคุมจากระบบประสาทอัตโนมัติ ก็จะเกิดภาวะหมดสติชั่วครู่ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดของภาวะหมดสติชั่วครู่ แต่หายได้เอง แม้ว่าจะกลับมามีอาการซ้ำ แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต

สัญญาณบ่งบอกว่าเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือใจสั่นนำมาก่อน
- เจ็บหน้าอก หรือในสั่นขณะออกแรง หรือเกิดในท่านอน
- ตรวจพบโรคหัวใจ และหลอดเลือดร่วม
- มีญาติสายตรงเสียชีวิตฉับพลันขณะอายุน้อย เช่น ผู้ชายน้อยกว่า 55 หรือผู้หญิงน้อยกว่าอายุ 65 ปี

สาเหตุของภาวะหมดสติในนักกีฬาที่พบบ่อย
มี 2 สาเหตุหลัก
- ภาวะความดันโลหิตลดต่ำลงขณะยืน
- มีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด

การวินิจฉัย
- อาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงการตรวจพิเศษเพิ่มเติมจากโรคอื่นๆ
- หากแต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจ เป็นขณะที่ผู้ป่วยไม่รู้สติ ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ในภายหลังจากฟื้นคืนสติแล้ว ทำให้ส่วนใหญ่แพทย์ต้องสืบค้นหลักฐานขณะไม่เกิดอาการ เช่น หาหลักฐานจากความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือในกรณีที่ไม่พบความผิดปกติที่บ่งถึงภาวะหมดสติจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์จะให้อุปกรณ์ติดตามชีพจรกลับบ้าน เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะมีอาการหมดสติขึ้นมาอีก
- ในบางกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ หรือความดันโลหิตลดต่ำลงขณะยืน แพทย์อาจให้นอนบนเตียงปรับระดับเพื่อกระตุ้นให้เกิดภาวะหมดสติขณะตรวจก็ได้
- การประเมินเบื้องต้นโดยแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทำเพื่อแยกแยะกลุ่มที่เกิดจากสาเหตุโรคทางหัวใจและหลอดเลือดออกไปก่อน เพื่อให้กลุ่มที่ไม่ร้ายแรงกลับบ้านก่อน เนื่องจากอุบัติการณ์ของภาวะหมดสติชั่วครู่พบได้สูงถึงร้อยละ 25 ของประชากร

การปฏิบัติที่เหมาะสมเมื่อพบผู้หมดสติ
- เข้าไปตรวจสอบว่ามีการบาดเจ็บของอวัยวะใดหรือไม่ หากได้รับบาดเจ็บให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น (หากมีภาวะหมดสติจากการบาดเจ็บของสมองหรืออวัยวะสำคัญ ล้วนถือเป็นภาวะฉุกเฉินทั้งสิ้น)
- ให้ผู้ป่วยนอนลงบนพื้นราบ พร้อมกับเร่งตรวจคลำชีพจร เนื่องจากภาวะหมดสติจากปัญหาทางหัวใจและหลอดเลือด ต้องได้รับการ

รักษาอย่างทันท่วงที
- ติดต่อระบบแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หากคลำชีพจรไม่ได้ (แต่ในสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง มักจะยังคลำชีพจรได้ และผู้ป่วยจะพักฟื้นคืนสติในเวลาอันสั้น มักไม่เกิน 2 - 4 นาที)
- ประเมินระบบการทำงานต่างๆ อาทิ การขยับแขนขา การพูด การมองเห็นทันทีที่รู้สติ
- ซักถามอาการผู้ป่วย เพื่อประกอบเป็นข้อมูลเพื่อให้แพทย์วิเคราะห์ต่อไป
- หากไม่มีการกลับฟื้นคืนการทำงาน ของการรู้สติ หรือระบบอื่นๆ ของร่างกาย มักเกิดจากสาเหตุอื่นที่คล้ายคลึงกันที่กล่าวไปแล้ว

การป้องกัน
- การป้องกันภาวะหมดสติชั่วครู่ ปฏิบัติได้ยาก เพราะบางรายหมดสติทันทีโดยไม่มีอาการวิงเวียนนำมาก่อนให้ทราบล่วงหน้า
-ในกรณีที่มีอาการนำมาก่อน แนะนำให้ป้องกันการบาดเจ็บของอวัยวะสำคัญขณะล้มลงโดยการนอนลง หรือนั่งยองลง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บขณะมีอาการ
- หากมีอาการนี้ซ้ำๆ ควรไปพบแพทย์ หรือถ้าหากมีสัญญาณบ่งว่าเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรไปพบแพทย์ทันที
(ในกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมักไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่มักเกิดอาการซ้ำ แพทย์จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ท่าน)
"ภาวะหมดสติชั่วครู่" ถึงแม้ว่าจะพบได้บ่อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต หากแต่แพทย์มีหน้าที่ให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ที่อาจนำมาสู่การเสียชีวิตฉับพลันได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ผศ.นพ.นราวุฒิ ประเสริฐวิทยากิจ
อาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่