แพ้ยา…อันตรายถึงชีวิต

23 พฤศจิกายน 2563

คณะแพทยศาสตร์

แพ้ยา…อันตรายถึงชีวิต

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หมายถึง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาที่เป็นอันตรายแก่ร่างกายปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นเองเมื่อใช้ยาในขนาดปกติไม่รวมถึงการใช้ยาในขนาดสูงทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ หรือจากการใช้ยาไปในทางที่ผิด อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse drug reaction; ADR) แบ่งแบบกว้างๆได้เป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทแรก type A ADR

เป็น ADR ที่สัมพันธ์กับกลไกการออกฤทธิ์ ส่วนใหญ่สามารถคาดเดาได้ ที่พบบ่อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย ผมร่วง ตับอักเสบ ไตอักเสบ ไตวาย เลือดออกง่าย

ประเภทที่ 2 type B ADR

Type นี้ ก็คือการแพ้ยา เป็น ADR ที่เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดการแพ้ยาครั้งแรกจะคาดการณ์ไม่ได้ ยกเว้นปัจจุบันจะมีการตรวจยีนบางอย่างที่ถ้าผู้ที่ได้รับการตรวจมียีนเหล่านั้นก็จะเสี่ยงต่อการแพ้ยาชนิดที่สัมพันธ์กับยีนนั้น

อาการแพ้ยามักจะเป็นผื่น มีทั้งผื่นชนิดไม่รุนแรง เช่น ตุ่มนูนและรอยแดงผสมกัน ผื่นลมพิษ ไปจนกระทั่ง ผื่นแพ้ยาที่รุนแรง เช่น Stevens Johnson syndrome/Toxic epidermal necrolysis ที่เป็นผื่นวงกลมสีแดงจัดหรือแดงเข้ม ตรงกลางมีเป้าคล้ายเป้าธนูแต่ไม่ครบ 3 ชั้น อาจพองเป็นตุ่มน้ำและมีการหลุดลอกของผิวหนัง มีรอยโรคบริเวณเยื่อบุ ได้แก่ ปาก ตา อวัยวะเพศ


ในการประเมินแพ้ยาต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง?

สิ่งสำคัญที่ต้องประเมินคือ ผู้ป่วยแพ้ยาอะไร? และมีความรุนแรงแค่ไหน?
แพทย์จะสืบหาว่าผู้ป่วยแพ้ยาอะไรจะต้องดูข้อมูลประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย ผู้ป่วยไดรับยา สมุนไพร วิตามิน หรือยาจากแพทย์ทางเลือกใดอยู่บ้าง? รับมานานเท่าไร? ประกอบกับลักษณะผื่นแพ้ยาที่เกิดขึ้นและอาการแสดงอื่นๆเพื่อพิจารณายาที่น่าจะเป็นสาเหตุการแพ้ อีกหนึ่งข้อมูลที่ช่วยในการประเมินแพ้ยาได้มากคือ ประวัติแพ้ยาเดิมของผู้ป่วย เพราะในบางครั้งการแพ้ยาบางชนิดอาจทำให้มีโอกาสแพ้ยาที่มีโครงสร้างสัมพันธ์กันได้เพิ่มมากขึ้น
ผู้ป่วยบางรายสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญได้ทั้งหมด แต่ในบางรายประวัติที่ได้รับไม่เพียงพอเนื่องจากผู้ป่วยจำไม่ได้หรือบางครั้งไม่ทราบชื่อยาที่แพ้ แนะนำว่าหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาแล้วไม่ทราบชื่อยาควรไปถามชื่อยาจากแหล่งที่ได้รับหรืออย่างน้อยถ่ายรูปยาส่วนที่มีชื่อยาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ

บัตรแพ้ยามีประโยชน์ยังไง?
บัตรแพ้ยามีไว้เพื่อป้องกันการได้รับยาที่ผู้ป่วยแพ้ซ้ำ การแพ้ยาในครั้งแรกเราจะป้องกันไม่ได้เพราะเราไม่รู้ว่าร่างกายเราจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อยาตัวไหน แต่สำหรับในครั้งถัดๆไปเราสามารถป้องกันได้โดยการให้ผู้ป่วยยื่นบัตรแพ้ยาและแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือบุคลากรอื่นๆให้ทราบเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ยาที่ผู้ป่วยแพ้ หรือยาที่อาจจะแพ้ข้ามกันให้กับผู้ป่วย

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยที่ได้รับบัตรแพ้ยาแล้ว

1. พกบัตรแพ้ยาติดตัวตลอด

2. จำชื่อยา และ จำว่า ยาที่แพ้ใช้รักษาโรคอะไร

3. เมื่อต้องไปร้านยาหรือโรงพยาบาลให้แสดงบัตรแพ้ยา หรือบอกชื่อยาที่แพ้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ ทุกครั้ง

4. ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา

5. หลีกเลี่ยงการซื้อยาใช้เองจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

สิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาอย่างละเอียด รวมทั้งพกบัตรแพ้ยา ผู้ที่มีอาการแพ้ยาควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ตนแพ้ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ข้อมูลโดย
รศ.นพ.สิริ เชี่ยวชาญวิทย์ อาจารย์พิเศษ สาขาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ เภสัชกรณัฐพงษ์ ไชยลังการ์ หน่วยเภสัชสนเทศ ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ติดตามรับชมย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/SuandokGoodHealth2018/videos/1324630834547491 
แกลลอรี่