วัคซีนโควิด-19 กับอาการทางระบบประสาทและสมอง

22 มิถุนายน 2564

คณะแพทยศาสตร์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ระบาดไปในทุกทวีปของโลก ปัจจุบันสถานการณ์ในบางประเทศเริ่มจะดีขึ้นจากการที่ประชากรได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ที่มีประสิทธิภาพ ก็ยังเป็นความหวังที่ประชาชนต้องการได้รับ แม้วัคซีนโควิด-19 ที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนต่างๆ ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้
ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบ เหนื่อย และอาจมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ยังสามารถติดเชื้อในระบบอื่นๆได้ ทำให้บางส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีอาการแสดงในระบบอื่น ๆ ที่อาจพบได้ไม่บ่อย โดยหนึ่งในกลุ่มอาการเหล่านั้นคือ อาการทางระบบประสาท
จากข้อมูลงานวิจัยจากนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36.4% อาการทางระบบประสาท ได้แก่ มึน วิงเวียน ปวดศีรษะ เป็นต้น มีเพียง2.8% ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งในกลุ่มนี้พบว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโควิด-19 ในระดับความรุนแรงของโรคมาก จะมีอาการทางระบบประสาทมากกว่าคนที่เป็นโควิด-19 ในระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุมาก (60 ปี ขึ้นไป) มีโรคประจำตัว (เบาหวาน, ความดัน โลหิตสูง) เวลาเกิดอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่ประมาณ 45% เกิดกับหลอดเลือดเส้นใหญ่ ทั้งนี้การติดโควิด-19 ยังเพิ่มอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 30 %
อาการความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นภายหลังฉีดวัคซีนโควิดซิโนแวค (Sinovac) พบว่าในคนไทยหลังการฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดปกติเรื่องอาการชา หรือการรับความรู้สึกผิดปกติ นอกจากนี้คนส่วนน้อยพบว่า มีอาการปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ อ่อนเพลีย อ่อนแรง เป็นต้น โดยอาการทั้งหมดเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นชั่วคราว อาจมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อมูลกลไกของการเกิดอาการ ตามรายงานของ องค์การอนามัยโลก ( WHO ) อาการเช่นนี้
ด้านความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วงประมาณ 6 ชั่วโมงแรกหลังฉีดวัคซีน อาจมีบางรายที่เกิดขึ้นได้ภายในช่วง 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน ส่วนใหญ่ที่เกิดมักจะหายได้เอง และค่อยๆดีขึ้น อาจจะใช้เวลา 1 ถึง 3 วัน หรือว่าในบางรายอาจจะนานเป็นสัปดาห์ และส่วนใหญ่มักจะกลับมาเป็นปกติได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาทสามารถรับวัคซีนโควิด-19ได้หรือไม่ ?
-ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคอ่อนแรง โรคพาร์กินสัน โรคของเส้นประสาท ถ้าโรคอยู่ในภาวะคงที่และควบคุมได้ สามารถรับวัคซีนโควิด-19ได้
-ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างได้รับรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน ยาสเตียรอยด์ ที่อาการของโรคสงบ สามารถรับวัคซีนได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษา (เนื่องจากรายละเอียดของยาบางตัวที่ได้รับอาจต้องมีการปรับยาก่อน)
-ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด และผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินต้านการแข็งตัวของเลือด
ถ้าผลเลือด INR อยู่ในเกณฑ์ปกติ
?INR น้อยกว่า 4 ภายใน 1 สัปดาห์
?INR น้อยกว่า 3 มาตลอด
กลุ่มนี้สามารถฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยา ไม่ต้องตรวจ INR
แต่ถ้าอาการยังไม่คงที่ แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนทันทีหลังจากที่อาการดีแล้ว
-โรคปวดศีรษะ ไมเกรน สามารถรับวัคซีนโควิด-19ได้ โดยไม่ต้องหยุดยา ทานยาเดิมได้ตามปกติ
การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังคงได้ประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียงที่จะได้รับ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ลดโอกาสในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต
ข้อมูลโดย อ.นพ.กิตติ เทียนขาว อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
#สุขภาพดีกับหมอสวนดอก
#วัคซีนโควิด-19กับอาการทางระบบประสาทและสมอง
#COVID19
#ใส่Mask #เว้นระยะห่าง #ล้างมือ
แกลลอรี่