ลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ปัญหากังวลใจของพ่อแม่

2 กุมภาพันธ์ 2567

คณะแพทยศาสตร์

ปัจจุบันอายุที่เด็กเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่นค่าเฉลี่ยอายุของเด็กหญิงที่เริ่มมีเต้านมลดลงจาก 10 ปีครึ่งเป็น 9 ปี และค่าเฉลี่ยอายุของเด็กหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกลดลงจาก 12-13 ปีเป็น 11 ปี 6 เดือน
นอกจากนี้พบอุบัติการณ์การเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยคืออะไร
•เด็กหญิง
มีเต้านมขึ้นหรือมีการพัฒนาของลักษณะทางเพศอื่น ๆ เช่น มีขนหัวหน่าวขึ้นก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9-9.5 ปี
•เด็กชาย
มีการขยายขนาดของอวัยวะเพศ หรือมีการพัฒนาของลักษณะทางเพศอื่น ๆ เช่น มีขนหัวหน่าวขึ้นก่อนอายุ 9 ปี

สาเหตุของการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยพบในเด็กหญิงได้บ่อยกว่าในเด็กชาย ส่วนใหญ่ในเด็กหญิงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ขณะที่ส่วนใหญ่ในเด็กชายมักพบสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมองซึ่งจะรบกวนกระบวนการควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว
??การมีเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง หรือการผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณศีรษะ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วขึ้นได้ นอกจากนี้การสร้างฮอร์โมนเพศมากผิดปกติจากต่อมเพศ (รังไข่ในเด็กหญิงหรืออัณฑะในเด็กชาย) เช่น การมีถุงน้ำในรังไข่ ก้อนเนื้องอกของอัณฑะ หรือความผิดปกติของต่อมหมวกไต เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตบางชนิด สามารถส่งผลให้เข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยได้เช่นเดียวกัน

สาเหตุอื่นที่อาจส่งผลให้เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยได้แก่ การสัมผัสกับฮอร์โมนเพศหรือสารที่มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศจากภายนอก พบได้ในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ยาที่อาจมีสารบางอย่างที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ หรือสารสกัดบางอย่างที่โครงสร้างคลายฮอร์โมนเพศ เมื่อเด็กเผลอไปสัมผัสก็อาจทำให้เกิดลักษณะของการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยได้

ผลเสียของการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
หากเด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัย ในช่วงแรกฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้ความสูงขึ้นเร็ว เด็กจึงมักตัวสูงกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่ฮอร์โมนเพศนี้จะส่งผลให้กระดูกเจริญเติบโตเร็ว และสุดท้ายกระดูกจะปิดก่อนวัยอันควรทำให้หยุดสูงเร็ว และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเตี้ยในที่สุด
***นอกจากนี้การเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เร็วเกินวัย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการปรับตัว ถูกล้อ หรือมีโอกาสถูกล่วงละเมิดทางเพศได้

การวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-สังเกตพบลักษณะทางเพศก่อนวัย (เต้านมขึ้นก่อน 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อน 9-9.5 ปีในเด็กผู้หญิง อวัยวะเพศขยายขนาด หรือมีขนหัวหน่าวก่อนอายุ 9 ปี ในเด็กชาย และสูงขึ้นเร็วกว่าปกติในทั้งสองเพศ)
-ตรวจร่างกายพบการพัฒนาของลักษณะทางเพศจริงโดยแพทย์
-การตรวจเพิ่มเติม เช่น หากตรวจเอกซเรย์อายุกระดูก (เอกซเรย์กระดูกมือและข้อมือซ้าย แปลผลเทียบกับรูปมาตรฐาน) พบว่ามีอายุกระดูกล้ำหน้ากว่าอายุจริง หรือตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด พบระดับฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนที่ควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวสูงขึ้น สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยได้

การรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-กรณีมีโรคที่เป็นสาเหตุ แพทย์จะให้การรักษาที่สาเหตุเป็นหลัก
-ในกรณีไม่พบสาเหตุ และเป็นการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวจากการทำงานของต่อมใต้สมองเร็วกว่าที่ควร มีการรักษาด้วยการให้ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวจากต่อมใต้สมอง ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังทุก 1 เดือน หรือทุก 3 เดือน ซึ่งกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อจะพิจารณาให้เฉพาะในเด็กที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยและคาดว่าความสูงสุดท้ายจะต่ำกว่าความสูงตามพันธุกรรม
****ในเด็กที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาวที่อายุปกติ การฉีดยายับยั้งฮอร์โมนเพศ ไม่ช่วยให้ความสูงสุดท้ายเพิ่มขึ้น

มีประจำเดือนแล้ว รักษาได้หรือไม่
-การที่เด็กมีประจำเดือนครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะหยุดสูงทันที
-จากการศึกษาพบว่าภายหลังจากการมีประจำเดือนครั้งแรก เด็กหญิงยังสามารถมีความสูงเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยประมาณ 4-8 เซนติเมตร
-โดยปกติอายุกระดูกเฉลี่ยขณะมีประจำเดือนครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 12 ถึง 12.5 ปี ซึ่งยังไม่ใช่จุดที่กระดูกปิด จึงอาจพิจารณาให้การรักษาได้หากเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นสาวก่อนวัย
อย่างไรก็ตามการเริ่มรักษาด้วยการฉีดยับยั้งฮอร์โมนเพศเมื่ออายุกระดูกมากกว่า 12.5 ปีในเด็กหญิง อาจไม่ช่วยให้ความสูงสุดท้ายเพิ่มขึ้น จึงควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อก่อนเริ่มให้การรักษา

ผลข้างเคียงจากการฉีดยา
การรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวจากต่อมใต้สมอง มีความปลอดภัยสูง ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่พบมีผลข้างเคียงรุนแรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยกเว้นในบางรายที่อาจมีอาการบวมแดงบริเวณตำแหน่งฉีดยา หรือมีผื่นแพ้ซึ่งพบได้น้อยมาก

การป้องกันไม่ให้เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย แต่ผู้ปกครองสามารถแนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจส่งเสริมให้เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว เช่น ภาวะอ้วน การสัมผัสผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนด้วยฮอร์โมนเพศ หรือสารออกฤทธิ์เสมือนฮอร์โมนเพศ เช่น สารจำพวกที่อยู่ในพลาสติกต่างๆ เช่น สาร bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีประกอบในวัสดุที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนต (polycarbonate plastic) ที่นิยมใช้ในการผลิตขวดนม ขวดน้ำดื่มมานาน หรือสารจำพวกสารทาเลท (phthalate) ซึ่งมักผสมในพลาสติกเพื่อเพิ่มความหยืดหยุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม ไปจนถึงน้ำยาซักผ้าบางชนิด ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าสารเหล่านี้มีโครงสร้างคล้ายกับออร์โมนเพศ และอาจส่งผลกระตุ้นให้เด็กมีการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยได้ หากหลีกเลี่ยงได้ก็อาจลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยได้

อาหารกับการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยสัมพันธ์โดยตรงกับการรับประทานอาหารหรือเนื้อสัตว์ชนิดใด รวมถึงเนื้อไก่
-การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล เช่น อาหารโปรตีนสูงหรือไขมันสูง หรือการมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว


ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลานว่ามีลักษณะอาการเข้าข่ายการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยหรือไม่ เช่น เด็กผู้หญิงมีเต้านม สูงขึ้นเร็วกว่าปกติ มีกลิ่นตัว มีสิว หรือมีขนบริเวณหัวหน่าวก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อน 9 ปี หรือ 9 ปีครึ่ง หรือเด็กผู้ชายมีการพัฒนาของอวัยวะเพศ สูงขึ้นเร็วกว่าปกติ มีขนหัวหน่าว สิว หนวด หรือเสียงแตกก่อนอายุ 9 ปี หากพบอาการที่สงสัยควรพาบุตรหลานมาตรวจกับแพทย์เพื่อทำการประเมินลักษณะทางกายภาพ รวมถึงการตรวจเพิ่มเติมว่ามีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยหรือไม่ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.ดร.นพ.กานต์ เวชอภิกุล อาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่