การนอนหลับเป็นเสาหลักพื้นฐานสุขภาพของมนุษย์ สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine : WASM) จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก : World Sleep Day " ขึ้น ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2565 เพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ การให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ ซึ่งถ้าหากไม่เร่งแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ โดยได้มอบคำขวัญวันนอนหลับโลกของปีนี้ ไว้ว่า Quality Sleep, Sound Mind, Happy World ภายใต้แนวคิด “นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง”
การนอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนเราใช้เวลา 1 ใน 3 ไปกับการการนอน การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะระหว่างที่เรานอนหลับนอกจากจะเป็นการพักการทำงานของร่างกายและจิตใจ โดยรวมแล้วยังเป็นเวลาที่ทุกระบบร่างกายใช้ในการตรวจสอบและฟื้นฟูตัวเอง ได้พักตามไปด้วย การเต้นของหัวใจช้าลง การหายใจช้าลงและสม่ำเสมอ มีการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดลดลง แต่มีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับช่วยการซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอ หากนอนไม่พอหรือการนอนมีปัญหาจะมีผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ การตัดสินใจช้าลง ไม่มีสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดง่าย มีอาการง่วงระหว่างวันสูง จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือระหว่างทำงาน นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและโรคอ้วน การนอนที่ดีต้องมีจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอต่อความต้องการ ตามอายุ เด็กแรกเกิดต้องการนอนมากกว่า 10-16 ชั่วโมง เด็กวัยเรียน 8-10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7-8 ชั่วโมง และวัยสูงอายุควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง
ปัจจุบันเราพบว่าการนอนไม่เพียงพอและการนอนแบบไม่ต่อเนื่องสัมพันธ์กับโรคทางกาย ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การดื้ออินซูลิน โรคเบาหวาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ช่วงเวลาทองสะดุด การฟื้นฟูร่างกายก็จะเกิดปัญหาและเกิดโรคได้ การนอนเหมือนร่างกายได้ชาร์จแบตเตอรี่ดังนั้นถ้าเรานอนหลับไม่ดีในช่วงกลางคืน จะมีผลในช่วงเวลากลางวันตามมา
ในวัยเด็ก เด็กจะไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ง่วงนอน ในวัยทำงาน ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะรู้สึกนิ่งเฉย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อาจกลายเป็นคนซึมเศร้า ในวัยสูงอายุ จะมีอาการภาวะสับสน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เราจะเห็นว่าการนอนไม่เพียงพอจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพการนอนหลับ และสุขภาพชีวิต
การป้องกันโรคนอนไม่หลับ สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรม ดังนี้ เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วง บรรยากาศในห้องควรเงียบ สงบ สบาย ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวน งดการออกกำลังกายก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน อย่างน้อย 4 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการดูภาพยนตร์ตื่นเต้น หรือสยองขวัญก่อนนอน ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ก่อนนอน แต่ถ้านอนไม่หลับภายใน 20-30 นาที ให้ลุกจากที่นอนเพื่อทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อน เช่น ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ
หากพบว่าตนเองมีอาการนอนไม่หลับหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนการทานยานอนหลับ เป็นการกลบปัญหา ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาโดยตรง และโรคที่เป็นสาเหตุของการนอนหลับก็ยังอยู่ เนื่องจากยานอนหลับเป็นยาเสพติด มีฤทธิ์ทำให้ติด เมื่อติดแล้วต้องใช้ต่อ และใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนายานอนหลับให้ปลอดภัยมากขึ้น ฤทธิ์ตกค้างน้อยลงก็ตาม แต่อันตรายแฝงของยาทำให้สูญเสียโอกาสที่แพทย์จะมองหาโรคซ่อนเร้นที่เป็นเหตุทำให้นอนไม่หลับ
สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนควรให้ความสำคัญกับการนอน และการนอนที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยเวลานอนที่เพียงพอ เวลานอนที่เหมาะสม และการนอนที่มีคุณภาพ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่ให้ความสำคัญกับการนอนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย จิต และคุณภาพชีวิต
ข้อมูลโดย รศ.นพ.ธีรกร ธีรกิตติกุล หัวหน้าหน่วยโรคระบบการหายใจเวชบำบัดวิกฤต และภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#วันนอนหลับโลก #World Sleep Day
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU