จากท้องถิ่นสู่สากลอย่างยั่งยืน: การใช้น้ำมันพืชเป็นตัวทำละลายธรรมชาติ สำหรับกระบวนการสกัดแบบสะอาดและยั่งยืน
โดยใช้สมาร์ทโฟนติดตามสี เพื่อหาปริมาณสารอนินทรีย์และอินทรีย์
คณะวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการศึกษาวิจัยการใช้น้ำมันพืชเป็นตัวทำละลายธรรมชาติ สำหรับกระบวนการสกัดแบบสะอาดและยั่งยืน โดยใช้สมาร์ทโฟนติดตามสี เพื่อหาปริมาณสารอนินทรีย์และอินทรีย์
ทีมวิจัยได้ริเริ่มการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการหาปริมาณสารอนินทรีย์และอินทรีย์แบบสะอาด คุ้มทุน และเป็นวิธีการอย่างง่าย โดยการใช้สารเคมีพื้นฐานในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ในการทำให้เกิดคู่ไอออนในวัฏภาคน้ำ แล้วสกัดคู่ไอออนเข้าไปในวัฏภาคของตัวทำละลายอินทรีย์ที่เป็นน้ำมันพืช และติดตามการเปลี่ยนแปลงสีด้วยสมาร์ทโฟน โดยอ่านค่าความเข้มของสี (ส่วนใหญ่ใช้ระบบสีแดง เขียว น้ำเงิน) ที่มีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของสารที่ต้องการตรวจสอบ
สารต้นแบบที่ถูกเลือกมาใช้ในการพัฒนาวิธีหาปริมาณ คือ คลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และไอออนคอปเปอร์ (Copper (II)) โดยวิธีการที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบ และประยุกต์กับตัวอย่างจริงในการวิเคราะห์ทางเคมีและเภสัชกรรม ได้แก่ วัตถุดิบสารฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ ยาแก้แพ้ และตัวอย่างน้ำดื่ม
การศึกษาดังกล่าว เป็นการริเริ่มในการนำน้ำมันพืช ซึ่งเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ทางเลือกมาใช้ทดแทนตัวทำละลายอินทรีย์ที่ใช้โดยทั่วไปที่มีความเป็นพิษ การริเริ่มนี้นำไปสู่การวิเคราะห์ทางเคมีและเภสัชวิเคราะห์แบบสะอาดและยั่งยืน
อีกทั้ง การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ริเริ่มโดยนักวิจัยไทย ซึ่งผลงานได้รับการยอมรับจากประชาคมวิจัยและวิชาการในระดับนานาชาติ และคาดว่าจะสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาการวิเคราะห์ทางเคมีและเภสัชวิเคราะห์แบบสะอาดและยั่งยืนในระดับสากลมากขึ้นเป็นลำดับ อนึ่งงานวิจัยนี้เป็นการต่อยอดจากประสบการณ์ในการริเริ่มใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมากกว่าร้อยปี ของชาวอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการใช้สารสกัดจากใบฝรั่งมาเป็นรีเอเจนต์ธรรมชาติในการวิเคราะห์ทางเคมีโดยใช้สมาร์ทโฟน
Graphical abstract งานวิจัยเรื่องที่ 1
Graphical abstract งานวิจัยเรื่องที่ 2
Graphical abstract งานวิจัยเรื่องที่ 3
ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
• Sustainable Chemistry
and Pharmacy, February 2024
(doi.org/10.1016/j.scp.2023.101411)
• Talanta Open, August 2023
(doi.org/10.1016/j.talo.2023.100193)
• Molecules, December 2022
(doi.org/10.3390/molecules27238622)
รายชื่อนักวิจัย
คณะวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เกตุ กรุดพันธ์
2. รองศาสตราจารย์ ดร. ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม
3. ดร.กนกวรรณ คิวฝอ
4. ดร.สุธาสินี อภิชัย
5. นางสาวศุภลักษณ์ อภิชาติพณิชกุล
คณะวิจัยมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
1. รองศาสตราจารย์ ดร.มนภัทร วงษ์บุตร
2. ดร.กุลภณ เกสรกาญจน์
3. ดร.ชนม์นิภา ยี่รัมย์