กระดูกสันหลังคด สรีระที่ไม่ควรมองข้าม

26 พฤษภาคม 2565

คณะแพทยศาสตร์

กระดูกสันหลังคดในเด็ก เป็นโรคที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก อย่างกรณีที่บุตรหลานต้องแบกกระเป๋าไปโรงเรียน สร้างความกังวลใจว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บุตรหลานกระดูกสันหลังคดหรือไม่ และหากกระดูกสันหลังคดแล้ว จะสามารถรักษาหายได้หรือไม่
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่า ปกติกระดูกสันหลังของมนุษย์จะตั้งตรง หากมองกระดูกสันหลังแล้วมีอาการคดหรือเอียงด้านข้างเกิน 10 องศา มีมุมคดเกิน 10 องศา จะเรียกว่า “กระดูกสันหลังคด” ซึ่งพบมากประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก หมายความว่าใน 100 ราย จะพบผู้ที่มีกระดูกสันหลังคด 3 ราย ถือว่าพบได้บ่อยโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงในช่วงอายุ 10-15 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง มักตรวจพบจากการที่ผู้ปกครองสังเกตเห็นเด็กเดินตัวเอียง ไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน ส่วนโรคกระดูกสันหลังคดในผู้ใหญ่ จะมีอาการปวดหลัง และปวดร้าวลงขาร่วมด้วย
กระดูกสันหลังคด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1.คดแท้ (structural scoliosis) คือความผิดปกติของตัวกระดูกสันหลังเอง เกิดจากความปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง เกิดการเอียงไปทางด้านข้าง (รูปที่ 1) รวมทั้งเกิดการบิดหมุนทำให้มองเห็นกระดูกซี่โครงนูนขึ้นผิดปกติ (rib hump) ซึ่งสามารถตรวจได้ง่ายๆ โดยให้เด็กก้มตัวไปทางด้านหน้าและผู้ปกครองมองจากทางด้านหลัง ถ้าก้มตัวแล้วพบ rib hump ถือว่า เป็นคดแท้ (รูปที่ 2)
2.คดไม่แท้ (functional scoliosis) บางครั้งผู้ป่วย ที่มีภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากันหรือมีปัญหาโรคของสะโพก จะส่งผลต่อกระดูกสันหลังคดด้วย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเรียกว่าคดไม่แท้ หรือคดเทียม ต้องรักษาที่ต้นเหตุ เช่นรักษาในเรื่องของสะโพก หรือขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น เกิดขึ้นได้จากลักษณะกระดูกสันหลังคล้ายตัวเอส ( “S” ) แนวสันหลังจะไม่ตรง มักจะเกิดขึ้นในแนวกระดูกสันหลังส่วนบริเวณอก และกระดูกสันหลังส่วนเอว สังเกตได้ง่ายโดยไหล่ผู้ป่วยจะไม่เท่ากัน ไหล่ซ้ายกับไหล่ขวาจะสูงไม่เท่ากัน หากความคดเกิดขึ้นที่เอวก็จะเห็นว่าระดับสะโพกไม่เท่ากัน
สาเหตุของกระดูกสันหลังคด มีหลายประเด็นด้วยกัน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ จึงถูกเรียกว่า โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (Adolescent Idiopathic Scoliosis หรือ AIS) พบช่วงอายุประมาณ 10-19 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นจะไม่มีอาการคดแต่อย่างใด แต่จะมาเริ่มคดในช่วงที่เด็กกำลังมีการเจริญเติบโตสูง คือในช่วงวัยรุ่นที่มีอัตราความเจริญเติบโตความสูงมาก จะทำให้เด็กเกิดความคดได้ เรียกโรคนี้โดยย่อว่า AIS ทั้งนี้การแบกกระเป๋าจะไม่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (adolescent idiopathic scoliosis) ได้แก่
-เพศหญิง อายุ 11-15 ปี ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบมากในเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 6 เท่า
-หลังคด ระดับไหล่-สะโพก ไม่เท่ากัน
-เดินตัวเอียง ไม่ปวด ไม่ชา ไม่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง
-ตรวจพบโดยบังเอิญ (ตรวจสุขภาพ,เอกซเรย์ปอด)
-การคัดกรองโรคกระดูกสันหลังคด อาทิ เด็กเตี้ยลง ไม่สูงขึ้น
-การรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมุมที่คด
คดไม่มาก ให้สังเกตอาการ ใส่อุปกรณ์พยุงกายภายนอก กายภาพบำบัด
-คดมาก ให้ผ่าตัดแก้ไขความผิดรูปของกระดูกสันหลัง
-แนะนำให้ปรีกษาแพทย์
ปัจจัยเสี่ยง
-พันธุกรรม
-สัมพันธ์กับเพศหญิง พบมากกว่าเพศชาย
-พบในฝาแฝด
อาการบ่งชี้
-อาการจะไม่มี ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังคด เด็กจะไม่มีอาการเจ็บ และปวดแต่อย่างใด แต่จะสังเกตจากสรีระในร่างกายที่ผิดปกติไป กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังบิดตัวไป
การตรวจวินิจฉัย
หากเด็กผู้หญิงอยู่ในวัยรุ่น มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้เด็กก้มตัวด้านหน้า หากเห็นความผิดปกติ นูน เว้าด้านข้าง สะโพกไม่เท่ากันให้เข้าพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา โดยขั้นตอนแรก คือ
1.แพทย์จะทำการซักประวัติ รวมถึงปัจจัยเสี่ยง
2.ซักประวัติเกี่ยวกับพัฒนาการ ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาการปกติ แต่ต่อมาก็หลังคดขึ้นมาเอง ในช่วงวัย 10-11 ปี ตอนแรกอาจจะเป็นน้อย ทำให้สังเกตได้ยาก
3.การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจว่าเป็นคดแท้หรือคดเทียม
4.การตรวจร่างกายระบบอื่นๆ ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ว่ามีความผิดปกติร่วมด้วยหรือเปล่า ส่วนใหญ่หากเป็นกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น จะไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด หากแพทย์พบความผิดปกติของระบบประสาท เช่น มีการชา มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แพทย์จะต้องส่งเอกซเรย์ทันที รวมทั้ง เอ็ม.อาร์.ไอ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของระบบประสาทในไขสันหลัง หรือว่าในสมองร่วมด้วยหรือไม่
แนะนำว่าหากพบว่าลูกหลาน มีภาวะกระดูกสันหลังคด ให้มาปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด แพทย์จะได้ประเมินอาการว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรและต้องส่งเอกซเรย์
มุมคด กำหนดแนวทางการรักษา
(รูปที่ 3)
มุมคด 0-20 องศา แพทย์จะใช้วิธีสังเกตและติดตามอาการ นัดติดตามอาการทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยจะทำการตรวจร่างกายและเอกซเรย์ทุกครั้ง เพื่อแพทย์จะได้เปรียบเทียบความแตกต่างในแต่ละครั้ง ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
มุมคด 20-30 องศา หากเด็กอายุ 14-15 ปี แพทย์อาจจะให้ใช้ใส่อุปกรณ์พยุงกายภายนอก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
หากเด็กโตแล้ว เช่น อายุ 18-19 ปี อาจจะไม่ทำอะไรเลย คือให้สังเกตและติดตามอาการ จนกว่ามั่นใจว่าผู้ป่วยจะเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เช่นอายุเกิน 21-22 ปี ขึ้นไป อาจจะไม่นัดอีกต่อไป
มุมคด 30-40 องศา ใส่อุปกรณ์พยุงกายภายนอก ทำกายภาพบำบัด
มุมคด 40-45 องศา ใส่อุปกรณ์พยุงกายภายนอก ทำกายภาพบำบัด
พิจารณารักษาโดยการผ่าตัด หากมีแนวโน้มการคดเร็ว อาทิ เอกซเรย์พบว่าคด 45 องศา ภายใน 1-6 เดือน เมื่อเอกซเรย์พบว่าคดเป็น 55 องศา ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มของการคดเร็วมาก แพทย์จะต้องทำการหยุด โดยมี 2 วิธี คือใส่อุปกรณ์พยุงกายภายนอก หรือการผ่าตัด
มากกว่า 50 องศา พิจารณาโดยการผ่าตัดหากคดเร็ว
หากไม่ได้รับการรักษาถ้าอาการคดไม่มาก สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ บางรายไม่ทราบว่าตนเองคด และหากกระดูกสันหลังคดไม่เกี่ยวกับการปวดหลัง เพราะฉะนั้นกระดูกสันหลังคดหรือไม่คด ทุกคนก็มีโอกาสที่จะปวดหลังได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบว่าโอกาสของกระดูกสันหลังคดมาก จะเกิดจากกระดูกสันหลังส่วนอก ซึ่งในส่วนอกของมนุษย์ เราจะมีปอดอยู่ หากคดเกิน 50 องศา หรือมีโอกาสคดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ พบว่าการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ติดตามผู้ป่วยเกิน 40 ปีพบว่า มีผลต่อการทำงานของปอด ซึ่งทำให้ช่วงปอดบริเวณด้านขวาทำงานไม่เต็มที่ การหดตัวและการขยายตัวของปอดไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบไปยังการทำงานของหัวใจห้องขวา เพราะฉะนั้นการทำงานของหัวใจด้านขวาเริ่มทำงานได้น้อยลง อาจจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจทั้งหมดเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิน 50 องศา แพทย์จะต้องทำการผ่าตัด เพื่อแก้ไขเพื่อหยุดไม่ให้คดมากกว่านี้ และทำให้กระดูกสันหลังใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด เมื่อทราบข้อมูลอย่างนี้แล้ว อย่าลืมสำรวจสรีระบุตรหลานของท่านว่า มีลักษณะผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาบุตรหลานมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหน่วยโรคกระดูกสันหลังให้โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้รีบแก้ไข

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ อาจารย์หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#กระดูกสันหลังคด
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่