การผ่าตัดลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วนได้จริงหรือ?

22 มิถุนายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

นิยามของคำว่าอ้วนในแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีรูปร่างที่ผอม ก็มองว่าตัวเองอ้วนเมื่อเทรนด์ผอมมาแรง เสื้อผ้าสำหรับผู้ที่มีรูปร่างอ้วนย่อมหายากขึ้น ทำให้มีหลายคนพยายามที่จะลดความอ้วนกันมากขึ้น ดังนั้นการสรรหาการลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทานอาหารคลีน คีโต หรือทำ IF เพื่อให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดี หรือลดน้ำหนักเพื่อรักษาโรค
นอกจากนี้ ความอ้วนเกิดจากการมีไขมันสะสมในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย แต่ที่พบบ่อย คือ บริเวณใต้ผิวหนัง ในเพศชายพบว่าไขมันมักจะไปสะสมบริเวณหน้าท้อง จึงมีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ล ส่วนเพศหญิงพบว่าไขมันมักสะสมที่สะโพก รูปร่างจึงออกไปในแนวลูกแพร์
การผ่าตัดลดน้ำหนักคืออะไร
คือการเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้สามารถลดน้ำหนักได้ การผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหารนี้จะทำให้ทานได้น้อยลง ทำให้การดูดซึมสารอาหารได้ลดลงและน้ำหนักจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แต่การที่ไปเจาะ ไปดูด หรือตัดไขมัน ไม่ได้เรียกเป็นการผ่าตัดลดความอ้วน ทำให้สวยขึ้นได้ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ทำให้น้ำหนักลดลงในระยะยาว
การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจเกิดอันตรายได้เช่นเดียวกันกับการผ่าตัดจำพวกนิ่วในถุงน้ำดี ไส้ติ่งอักเสบ เนื่องจากว่าการผ่าตัดลดความอ้วนมีความเสี่ยงในการที่จะมีบาดแผล และต้องดมยาสลบเหมือนการผ่าตัดอื่นๆ ปัจจุบันได้มีการผ่าตัดลดความอ้วนในผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทีมแพทย์มุ่งหวังให้ผู้ป่วยปลอดภัย พยายามป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วย โดยมีทีมแพทย์สหสาขาช่วยกัน มีการเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด
การผ่าตัดผู้ป่วยที่ผ่านมา น้ำหนักมากที่สุดอยู่ที่ราว 215 กิโลกรัม โดยผู้ป่วยลุกออกจากเตียงไม่ได้เดินไม่ได้ โดยทีมแพทย์จะช่วยผู้ป่วยลดน้ำหนักก่อนทำการผ่าตัดและรักษาโรคร่วมอื่นๆเช่น โรคหัวใจให้ดีขึ้นก่อนทำการผ่าตัด ณ ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีน้ำหนักราวๆ100 กิโลกรัมสามารถติดต่อเข้ารับการรักษาผ่าตัดได้เลย และไม่จำเป็นต้องนอนรพ.เพื่อลดน้ำหนักก่อนผ่าตัด ยกเว้นในบางรายที่ไม่สามารถลดน้ำหนักเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง
การรักษาโรคอ้วน สามารถรักษาได้อย่างไร
-ทานอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น บางรายอาจจะใช้ยาลดน้ำหนัก แต่ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหารด้วยตัวเองหลังจากใช้ยา เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดโยโย่แอฟเฟคได้หลังการหยุดใช้ยา
-การผ่าตัด ส่วนใหญ่จะกระทำในรายที่มีดัชนีมวลกายที่สูงมากเกิน 32.5 หรือน้ำหนักประมาณ 100กิโลกรัมขึ้นไป แพทย์จะต้องประเมินความเสี่ยง และประโยชน์กับผู้ป่วยที่จะได้รับ
ใครสามารถทำการผ่าตัดลดน้ำหนักได้
ในประเทศไทยมีสมาคมการผ่าตัดโรคอ้วน ได้มีการบัญญัติไว้ว่า เนื่องจากคนเอเชียมีดัชนีมวลกายที่ค่อนข้างที่จะต่ำ แต่ว่ามีโรคแทรกซ้อนเข้ามาค่อนข้างสูง ในประเทศไทยจึงมีการบัญญัติไว้ให้มีดัชนีมวลกายที่ 37.5 กิโลกรัม หรือ 32.5 กิโลกรัม แล้วมีโรคความดัน เบาหวาน และหัวใจ แพทย์จะให้เข้ารับการผ่าตัดได้ อายุที่กำหนดไว้อยู่ที่ 18 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 65 ปี แต่อาจมีการผ่าตัดในเด็กที่อายุน้อยกว่า18 ปี อย่างเช่น เคยมีเด็กอายุ 9 ปี เป็นโรคอ้วน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด มีน้ำหนักตัวมาก เป็นเบาหวาน ฉีดอินซูลินวันละ 200 ยูนิต ไตเริ่มทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อไตวายได้ ดังนั้นการเข้าผ่าตัดจะอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ที่ร่วมกันวินิจฉัยและตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยในการรักษาเช่นกัน
โรคอ้วนทำไมต้องรักษา
เนื่องจากความอ้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายโรคด้วยกัน อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบแตก ไขมันพอกตับที่ส่งผลให้เกิดตับแข็งในอนาคต เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ โรคปวดเข่า ฯลฯ
โรคเหล่านี้ปัจจุบันเรียกรวมว่าเมตาบอลิกซินโดรม คือเป็นโรคอ้วนที่มักมีน้ำหนักเกิน น้ำตาลสูง ไขมันดีน้อย ไขมันเลวมาก และความดันสูง ทั้งหมดเข้าข่ายว่าจะต้องได้รับการรักษา
กลไกการลดน้ำหนักของการผ่าตัดโรคอ้วน
-ทำให้รับประทานได้น้อยลง
-ทำให้ดูดซึมได้ลดลง
- ปรับเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกาย
การศึกษาในหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารทำให้มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในร่างกายที่ส่งไปยังสมองและอวัยวะอื่นๆ อาทิ ลดฮอร์โมนความหิว โดยการผ่าตัดเอากระเพาะส่วนที่ผลิตฮอร์โมนนี้ออก เมื่อตัดออก ฮอร์โมนของความหิวจะลดลงทันที และจะลดไปได้เรื่อยๆและจะค่อยๆเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ปี แต่ถึงฮอร์โมนความหิวจะสูงขึ้นก็ไม่เท่ากับคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ไม่ค่อยหิว ถึงแม้จะไม่ได้รับประทานอะไรเลย นอกจากนั้นงานวิจัยยังพบว่า เมื่อแพทย์ทำการผ่าตัด จะมีการเพิ่มฮอร์โมนที่ทำให้อิ่ม คือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องอินซูลิน หรือน้ำตาลในร่างกายของเรา ฮอร์โมนตัวนี้จะค่อยๆขึ้นสูงในร่างกายเรา ทำให้ร่างกายสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น และหายจากโรคเบาหวานได้ การลดน้ำหนักด้วยวิธีการอดอาหาร การออกกำลังกาย หรือใช้ยาจะไม่มีกลไกของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนนี้ จะมีกลไกเดียวที่เปลี่ยนแปลงฮอร์โมนตรงนี้ได้อย่างรวดเร็วคือการผ่าตัด คนที่อ้วนมากๆจะมีความผิดปกติของการควบคุมฮอร์โมนของความอิ่มและความหิว ดังนั้นร่างกายจึงต้องการการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนนี้เพื่อช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีขึ้น และยังสามารถช่วยให้โรคเบาหวานดีขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้น การผ่าตัดจึงช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ดี
วิธีการผ่าตัดที่ใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภท
-ผ่าตัดบายพาส คือแยกกระเพาะออกเป็นกระเพาะเล็ก และกระเพาะใหญ่ แพทย์จะทำทางเชื่อมให้ใหม่ เพื่อที่จะให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และให้อาหารผ่านลงมาโดยที่ดูดซึมได้ลดลง
-การตัดกระเพาะออก (นิยมมากในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดในปัจจุบัน) แพทย์จะทำการตัดกระเพาะออกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นกระเพาะส่วนที่ยืดขยายได้ เหลือกระเพาะท่อเล็ก รูปร่างคล้ายกล้วยหอม ทำให้รับประทานได้ราวๆ 5-10 คำ
-การใส่วงแหวนรอบๆกระเพาะ(ไม่นิยมในแถบเอเชียหรือในเมืองไทย จะนิยมในแถบยุโรป)
ภาวะแทรกซ้อน
แน่นอนต้องมีบ้าง เทียบเท่ากับการผ่าตัดทั่วไป มีโอกาสที่เลือดออก กระเพาะแตก รั่ว ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่พยายามจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ หลังการผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยทานวิตามินเสริม หากเป็นการผ่าตัดบายพาส แพทย์จะทำการฉีดวิตามินบี 12 ไปตลอดชีวิต จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยไม่นิยมเลือกผ่าตัดบายพาสแม้ว่าจะลดน้ำหนักได้ดีกว่า
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะใช้ชีวิตปกติ ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยแพทย์จะแนะนำให้ทานโปรตีน เนื่องจากหากทานโปรตีนน้อยผมจะร่วงหลังผ่าตัด หากทานโปรตีนเพียงพอผมก็จะไม่ร่วง เพราะฉะนั้นเมื่อทานได้ 5-10 คำ ต้องทานอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเช่นโปรตีน เป็นหลัก นอกจากนี้แนะนำให้ออกกำลังกาย งดอาหารรสหวาน หากไม่เปลี่ยนการดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ก็อาจทำให้กลับมาอ้วนใหม่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.พญ.กนกกาญจน์ เทพมาลัย อาจารย์หน่วยกุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#โรคอ้วน #ผ่าตัดลดน้ำหนัก
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่