"ข้อเท้าพลิก”ไม่ดูแล ไม่รักษา เสี่ยง กระดูกงอก ข้อเท้าเสื่อม ข้อเท้าเบี้ยว ดูแลด้วยตัวเองง่ายๆใน 4 ระยะ
15 มกราคม 2564
คณะแพทยศาสตร์
"ข้อเท้าพลิก”ไม่ดูแล ไม่รักษา เสี่ยง กระดูกงอก ข้อเท้าเสื่อม ข้อเท้าเบี้ยว ดูแลด้วยตัวเองง่ายๆใน 4 ระยะ
1 ใน 5 อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อที่มาพบแพทย์คือการบาดเจ็บข้อเท้าพลิก มักเจอได้บ่อยตั้งแต่วัยเด็กที่ชอบวิ่งซน วัยรุ่นเล่นกีฬาข้อเท้าพลิก ผู้ใหญ่ใส่รองเท้าเดิน stepไม่ดีก็พลิกได้ ผู้สูงอายุข้อเท้าพลิกในภาวะกระดูกพรุน ทุกเพศทุกวัยสามารถพบได้ ส่วนใหญ่พบข้อเท้าพลิกเข้าด้านในเมื่อน้ำหนักเทลงไปที่ข้อเท้าก็มีโอกาสบาดเจ็บของอวัยวะข้างในได้ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็น กระดูก เนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดบวมบริเวณข้อเท้า ช้ำ เลือดออกบริเวณใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่เดินได้อาการไม่น่าเป็นห่วง ผู้ป่วยร้อยละ 80 หายได้เอง แต่หากดูแลตัวเองได้ไม่มีพออาจจะมีปัญหาตามมาในระยะยาว เช่น กระดูกงอก ข้อเท้าเสื่อม ข้อเท้าเบี้ยว เป็นต้น
ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น มักพบ 3 อาการ ดังนี้1.กระดูดแตก กระดูกร้าว พบมากในผู้สูงอายุ 2.เอ็นข้อเท้าฉีก เมื่อจับและขยับข้อเท้าจะรู้สึกหลวมๆ เมื่อx-ray จะเห็นกระดูกข้อห่างและเคลื่อนออกมา หากไม่รักษาจะทำให้ข้อเท้าเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น 3.กระดูกงอกที่ข้อเท้า
ดูแลด้วยตัวเองง่ายๆใน 4 ระยะ
ระยะที่ 1 บวมและปวด ลดบวมด้วยการประคบเย็นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 วัน ป้องกันการเคลื่อนไหวด้วยที่รัดข้อเท้าหรือเฝือก เตรียมตัวขยับข้อเท้าเมื่อลดบวม
ระยะที่ 2 ลดบวม ใส่เฝือกหรือที่รัดข้อเท้าช่วยในการเคลื่อนไหว ขยับข้อเท้าเมื่อลดบวม เพิ่มการรับรู้ของข้อเท้า และเพิ่มองศาการขยับข้อเท้า ด้วยการใช้ผ้าขนหนูหรือยางยืดในการช่วยกระดกข้อเท้า ขึ้นลง บิดเข้าด้านในและออกด้านนอก ยืดเอ็นร้อยหวาย
ระยะที่ 3 ไม่ปวด ขยับข้อเท้าได้ เพิ่มการรับรู้ของข้อเท้าและองศาการขยับข้อเท้า ด้วยการฝึกข้อเท้าให้แข็งแรง สร้างสมดุลให้ข้อเท้า เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและลงน้ำหนัก ด้วยการนำยางยืดหรือผ้าขนหนูเกี่ยวเท้าบิดไป 4 ทิศทาง ซ้ายขวา กระดกขึ้นลง โดยมักจะทำเมื่อพ้น 1 สัปดาห์ ขึ้นไป
ระยะที่ 4 ขยับข้อเท้าได้ดีฝึกข้อเท้าได้ดีแล้ว ฝึกการกลับไปออกกำลังกายเบาๆเริ่มวิ่ง ออกกำลังกาย ฝึกในสนามออกกำลัง
หากดูแลจนครบ 4 ระยะแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเส้นเอ็น กระดูก พังผืด ด้วยการX-rayและอัลตร้าซาวน์เพื่อดูอาการซ้อนเร้นที่อาจเกิดขึ้น กรณีมีเอ็นฉีกขาดอาจต้องผ่าตัดส่องกล้องซ่อมเอ็นที่ฉีกขาดโดยวิธีการเจาะรูเล็กๆเพื่อเย็บเส้นเอ็นให้กลับมาแน่นเหมือนเดิม โดยประมาณ 1 เดือน จึงจะสามารถกลับมาวิ่งออกกำลังกายได้ตามปกติ
โรคข้อเท้าพลิกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง การดูแลด้วยตัวเองในเบื้องต้นให้ครบ 4 ระยะ จะสามารถป้องกันปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่หรือมีอาการปวด บวม เจ็บเรื้อรัง และพลิกบ่อยๆ อาจเป็นมากกว่าข้อเท้าพลิก ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาโดยด่วน ปรึกษาข้อเท้าพลิกได้ที่คลินิกโรคเท้าและข้อเท้า ห้องตรวจเบอร์ 10 ชั้น 1 อาคารตะวัน กังวานพงศ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 09.00-13.00น. โทร.053-9357503.00น. โทร.053-935750
ข้อมูลโดย รศ.นพ.ธนวัฒน์ วะสีนนท์ ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำหน่วยเท้าและข้อเท้า ภาควิชาออโทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่