สุดปัง! ทานข้าวเหนียวมะม่วงยังไง ให้ร่างไม่พัง

27 เมษายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

หลังจากที่แร็ปเปอร์หญิงชาวไทย มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ได้นำข้าวเหนียวมะม่วง เมนูที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนความเป็นไทยแต่โบราณ และเป็นที่โปรดปรานทั้งคนไทยและต่างชาติ ขึ้นมาทานระหว่างแสดงคอนเสิร์ต ในงาน Coachella 2022 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกเสียงฮือฮาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก พร้อมกับเกิดกระแสฟีเวอร์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลขึ้นมาทันที จนคนไทยเองรวมถึงเหล่าคนดังจากหลากหลายประเทศต่างไม่ยอมตกเทรนด์ ถ่ายรูปคู่ข้าวเหนียวมะม่วง ตามรอยความอร่อยของเมนูนี้ ส่งผลให้ยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงสูงขึ้นมากภายในชั่วข้ามคืน
ดังนั้นจึงนำข้อมูลในมุมของนักโภชนาการ ถึงเรื่องการทานข้าวเหนียวมะม่วงอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมาฝากกันค่ะ
ข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน มีคุณค่าทางโภชนาการประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
- มะม่วงสุก 100 กรัม ให้พลังงาน 75 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม ไขมันและโปรตีนเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 1 กรัม
- ข้าวเหนียวมูน 100 กรัม ให้พลังงาน 285 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 54 กรัม ไขมัน 6.3 กรัม และโปรตีน3.1 กรัม
- น้ำกะทิ (ส่วนหางกะทิ) 1 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ ผสมน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี่
โดยเฉลี่ยข้าวเหนียวมะม่วง 1 จาน ให้พลังงาน 450 กิโลแคลอรี่ (หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของข้าวเหนียวมะม่วง) เทียบเท่ากับอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ
การเลือกทานข้าวเหนียวมะม่วง ช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรเลือกเป็นมื้อว่างเช้าเวลา 10 โมง หรือ แทนมื้อกลางวัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงทานในมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อยกว่าช่วงกลางวัน พลังงานที่ได้รับเข้าไปอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้
สำหรับคนที่สุขภาพดี ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว ทานอย่างไรจึงเหมาะสม
-คนสุขภาพดี สามารถทานข้าวเหนียวมะม่วงได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ทานเข้าไปด้วย
-ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคไตเรื้อรัง สามารถทานข้าวเหนียวมะม่วงได้ เพียงแต่ทานในปริมาณที่เหมาะสม แนะนำให้ทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และควรลดปริมาณข้าวเหนียว และ มะม่วงสุกลงให้เหลือเพียง 50 กรัม
เทคนิคการกิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" ไม่ให้เพิ่มพุง คือ
1 เพิ่มปริมาณมะม่วง ลดปริมาณข้าวเหนียวลง
2. ใช้ข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวข้าวก่ำ เพราะมีกากใยและแอนตี้ออกซิแดนท์ชั้นดี
3. ใช้กะทิธัญพืช แทนกะทิมะพร้าว เนื่องจากกะทิธัญพืช จะมีไขมันอิ่มตัว ที่ต่ำกว่ากะทิจากมะพร้าว
4. มื้อไหนทานข้าวเหนียวมะม่วง ไม่ควรรับประทานข้าวแล้ว ให้ถือข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารมื้อหนักมื้อหนึ่ง
5. บริโภคข้าวเหนียวมะม่วงแต่พอดี
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าข้าวเหนียวมะม่วงจะเป็นเมนูที่อร่อย และมีประโยชน์ หากทานมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโทษตามมาต่อร่างกายได้


ข้อมูลโดย : คุณนฤมิตร บ้านคุ้ม นักโภชนาการ งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(อ้างอิงข้อมูลคุณค่าโภชนาการ จาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โปรแกรมคำนวนคุณค่าสารอาหาร INMUCAL-Nutrients V.4.0 ฐานข้อมูลชุด NB. ...,ประเทศไทย,2561 )


ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
#ข้าวเหนียวมะม่วง

แกลลอรี่