ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากกว่า 1.5 ล้านคน โดยที่ประเทศไทยมีประชากร 60 - 70 ล้านคน และในจำนวนประชากร 8 - 9 ล้านคน มีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุเป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งล้มแล้วมี “กระดูกหัก” จึงรู้ว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน” นับเป็น “ภัยเงียบ” อย่างแท้จริง
หากไม่มีความรู้เรื่องการดูแลกระดูก จนกระทั่งเกิดโรคกระดูกพรุน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือผลเสียที่ตามมาคือ อาจมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิต และอาจเป็นโรคกระดูกพรุนโดยที่ไม่รู้ตัว และส่งผลให้เกิดกระดูกพรุนที่มากขึ้น และเมื่อล้ม อาจทำให้กระดูกหักได้ง่าย ส่งผลให้เดินไม่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เมื่อเดินไม่ได้ ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เสียชีวิตได้เร็วมากขึ้น
โรคกระดูกพรุนคืออะไร
ในปี 1992 องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำจำกัดความว่า
"โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีลักษณะเฉพาะ คือมีมวลกระดูกต่ำ มีโครงสร้างทรุดโทรม และทำให้กระดูกอ่อนแอ หักง่าย โดยพบกระดูกสันหลังหักบ่อยมากที่สุด รองลงมาคือกระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ"
??มวลกระดูกในแต่ละช่วงอายุ
ตั้งแต่เกิด ร่างกายทุกคนจะมีการสะสมมวลกระดูก ซึ่งอัตราการสะสมมวลกระดูกจะแตกต่างกัน ระหว่างเพศชายกับเพศหญิง โดยเพศชายจะสะสมได้มากกว่าเพศหญิง เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการออกกำลังกาย และมีระบบฮอร์โมนที่แตกต่างกัน ช่วงอายุระหว่าง 30 - 40 ปี จะมีมวลกระดูกที่สูงสุดในช่วงชีวิต หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และจะสังเกตได้ว่าผู้หญิงมีการสะสมมวลกระดูกน้อยกว่าผู้ชาย และลดลงได้เร็วกว่า เนื่องจากระบบฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยที่หมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิง คือเอสโตรเจน (Estrogen) กับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ต่ำลง รวมถึงฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ และรกในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
เนื่องจากโรคกระดูกพรุน คือกระดูกมีความบางลงเรื่อยๆ โดยปกติจะไม่มีอาการปวดในช่วงแรก ยกเว้นแต่ว่ากระดูกจะหักไปแล้ว แต่จะทราบได้โดย
การวัดความหนาแน่นของกระดูก เพราะมวลกระดูกมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความแข็งแรงของกระดูก และความเสี่ยงต่อกระดูกหัก โดยจะวัดที่สะโพก และกระดูกสันหลังเป็นหลัก
โดยเครื่องจะมีการแปรผล ค่า T-Score ดังนี้
• มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
• อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
• ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
การผลัดกระดูก คืออะไร
กระดูกจะมีการสร้างและทำลายตลอดเวลา โดยเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกเรียกว่า "ออสติโอบลาสต์" (Osteoblast) และเซลล์ที่คอยทำลายกระดูก เรียกว่า "ออสตีโอคลาสต์" (Osteoclast) จะต้องมีการทำงานอย่างสมดุลกันตลอด เมื่อไรที่อายุมากขึ้น โดยรวมจะมีการสร้างกระดูกน้อยกว่าการทำลายกระดูก เซลล์ที่ทำลายกระดูกจะมากขึ้นได้ จากหลายสาเหตุ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด อายุที่มากขึ้น หรือการใช้ยาบางชนิด จะกระตุ้นเซลล์ที่ทำลายกระดูกให้ทำลายกระดูกมากขึ้น โดยปกติการผลัดกระดูกโดยทั่วไป ในช่วงชีวิตมนุษย์ ทั้งร่างกาย จะมีกระดูกใหม่ทุก 10 ปี
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน เกิดจากอะไร
1. สะสมมวลกระดูกน้อยไปเมื่อเป็นเด็กและวัยรุ่น ดังนั้นควรสะสมมวลกระดูกเมื่อวัยเด็กให้ถูกวิธี ดังนี้
- การโภชนาการ (Nutrition) ดื่มนม รับประทานแคลเซียม และโปรตีนอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ
- กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical activity) คือเล่นกีฬา เมื่อกระดูกมีแรงกระทำ เช่น เตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล เป็นต้น จะมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างกระดูกได้ดี
- ให้ร่างกายรับแสงแดด เพื่อสังเคราะห์วิตามินดีจากผิวหนัง
2. สูญเสียมวลกระดูกมากเกินไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน อายุมาก(สูงวัย) ใช้ยาสเตียรอยด์ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด เป็นโรคต่างๆ เช่น รูมาตอยด์ คอพอกเป็นพิษ เบาหวาน เป็นต้น
จากผลงานวิจัยตีพิมพ์ วารสารการแพทย์ โดย ผศ.นพ.สมพันธ์ ผดุงเกียรติ โดยพบอุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ แยกเพศชายและเพศหญิงสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
สาเหตุของกระดูกสะโพกหัก เกิดจากอะไร
• เกิดจากการล้มธรรมดาในผู้สูงอายุ โดยใน 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากล้มในบ้านถึง 68 เปอร์เซ็นต์ และใน 1 ปี จะพบอัตราการเสียชีวิตถึง 31 เปอร์เซ็นต์ในผู้ชาย และในผู้หญิง 16 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยแล้ว ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากสถิติของสำนักงานนายกรัฐมนตรี พบอัตราการเสียชีวิตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหลังจากกระดูกสะโพกหักในประเทศไทยค่อนข้างสูง มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 8 เท่า โดยผู้สูงอายุที่มีสะโพกหัก เป็นเวลา 10 ปี โดยไม่ได้รับการรักษา อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ หากอายุมากกว่า 84 ปี อัตราการเสียชีวิตมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น จะส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างมหาศาล และยังส่งผลต่อค่าเสียเวลาของลูกหลานที่ให้การดูแล รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ประเมินได้ยากเช่นกัน
จุดประสงค์ของการรักษา มีดังนี้
- รักษามวลกระดูก ให้คงที่หรือเพิ่มขึ้น โดยยาบางตัวที่สามารถทำให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย
- ป้องกันการเกิดกระดูกหัก โดยระมัดระวังไม่ให้หกล้ม ถึงแม้ว่ากระดูกจะพรุน แต่หากไม่หกล้มเลย กระดูกจะไม่สามารถหักได้ตลอดชีวิตในบางราย
- เพิ่มความสามารถในการขยับร่างกายให้มากที่สุด เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ
การรักษาโรคกระดูกพรุนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ทำได้โดย
- ค้นหาสาเหตุอื่นของโรคกระดูกพรุน
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา
- การรักษาแบบใช้ยา
- การรักษาโดยการผ่าตัด
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน มีอะไรบ้าง
- อายุมากกว่า 65 ปี
- เพศหญิง, เชื้อชาติยุโรปและเอเชีย
- ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี
- น้ำหนักตัวน้อย (ดัชนีมวลร่างกาย น้อยกว่า 20-25)
- ญาติสายตรงเคยมีประวัติกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
- มีประวัติกระดูกหักจากกระดูกเปราะบาง
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, เคยกระดูกหักง่าย, มวลกระดูกต่ำ, มีการผลัดกระดูกมาก, ล้มบ่อย, ใช้ยาเสตียรอยด์, มีประวัติกระดูกสะโพกหักในครอบครัว, สูบบุหรี่จัด, ดื่มแอลกอฮอล์, เป็นโรคที่ทำให้กระดูกพรุน (รูมาตอยด์ คอพอกเป็นพิษ เบาหวาน ฯลฯ)
การรักษาโรคกระดูกพรุนโดยไม่ใช้ยา ทำได้โดย
- สะสมมวลกระดูกให้มากที่สุด
- ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก โดยการออกกำลังกาย รับแคลเซียมที่เพียงพอ รับแสงแดดเพื่อผลิตวิตามินดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ และดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด ควบคุมโรคเรื้อรัง ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รักษาดัชนีมวลกาย (BMI) ให้มากกว่า 20
- ป้องกันการล้ม และการเกิดอุบัติเหตุ
- การให้โภชนาการที่เหมาะสม
หลักการสำคัญของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน คือ
1. ต้องไม่อันตราย
2. เพิ่มความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน
3. ลดความเสี่ยงต่อกระดูกหักซ้ำ
4. ลดความเสี่ยงต่อการล้ม เช่น กีฬาที่มีการฝึกกการทรงตัว (การวิ่งจ๊อกกิ้ง, การเต้นแอโรบิก, รำกระบอง, รำชี่กง, ไทเก๊ก)
ดังนั้น การออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย และดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากร่างกายผู้สูงอายุ ในแต่ละคนไม่เหมือนกัน การออกกำลังกายที่ดี ควรจะเกิน 20 - 30 นาที ขึ้นไป สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง อย่างน้อยวันเว้นวัน
การป้องการล้มในผู้สูงอายุ ทำได้โดย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึม
- แก้ไขปัญหาสายตา เช่น การรักษาโรคต้อ
- การรักษาอาการสมองเสื่อม
- แก้ความพิการผิดรูปของขา
- เพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว โดยการกายภาพบำบัด หรือการออกกำลังวิธีต่างๆ เช่น รำมวยจีน
- ออกแบบบ้านให้ปลอดภัย แสงสว่างต้องเพียงพอ ห้องน้ำ บันได ต้องมีที่จับกันลื่น พรมจะต้องไม่ลื่น ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ้าน เพื่อป้องกันการเหยียบสัตว์และทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
1. การไม่ออกกำลังกาย
2. การไม่สูบบุหรี่มากเกินไป
3. ดื่มแอลกอฮอล์มาก
4. ขาดแคลเซียม
5. ดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไป (แก้ได้โดยเสริมแคลเซียม)
ยารักษาโรคกระดูกพรุน
ในปัจจุบันมียาอยู่ 3 กลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ คือ
- ลดการสลายกระดูก
- เพิ่มการสร้างกระดูก
- ออกฤทธิ์ทั้งสองด้าน (เพิ่มการสร้างกระดูก และลดการสลายกระดูกไปพร้อมกัน)
การรักษาด้วยการผ่าตัด ทำอย่างไร
ในผู้สูงอายุที่มีกระดูกสันหลังยุบแล้ว บางรายมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้สูงอายุที่มีกระดูกสะโพกหัก ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขทุกคน ยกเว้น 2 กรณี คือ
1. ผู้ป่วยที่สะโพกหักแล้วมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด อาทิ โรคหัวใจรุนแรง โรคไตวายเรื้อรังรุนแรง เป็นต้น
2. ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้อยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วย ติดเตียง อาทิ ผู้ป่วย Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมองที่นอนติดเตียง ซึ่งเมื่อผ่าตัดก็ไม่สามารถเดินได้จากโรคเดิม
ความเสี่ยงขณะผ่าตัด
- ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ
- การเสียเลือด
- มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและระบบประสาท
ความเสี่ยงหลังผ่าตัด
- ขยับหลังได้ลดลง (ในกรณีที่ต้องเชื่อมข้อต่อ)
- แผลผ่าตัดติดเชื้อ
- กระดูกที่ต้องการเชื่อมไม่ติด (ในกรณีที่ต้องเชื่อมข้อต่อ หรือกระดูกหัก)
- โลหะถอน หัก (กรณีที่ต้องเชื่อมข้อต่อ หรือกระดูกหัก)
- ข้อต่อใกล้เคียงเสื่อมเร็วกว่าปกติ (กรณีที่ต้องเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง)
ข้อดีของการผ่าตัด
- เดินได้
- หายปวด หายชา
- ไม่เครียด พักผ่อนได้มากขึ้น มีความสุข
- มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กล่าวโดยสรุป โรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาสำคัญของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาหรือป้องกัน การเกิดกระดูกหัก อัตราการเสียชีวิต และพิการย่อมสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.สุทธิภาศ พงศ์มณี อาจารย์ประจำหน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่