ปวดคอสัญญาณอันตราย

15 มิถุนายน 2564

คณะแพทยศาสตร์

อาการปวดคอคือความรู้สึกที่ไม่สุขสบาย โดยอาจจะมีอาการปวดตื้อที่บริเวณศีรษะหรือท้ายทอย อาจเป็นร่วมกับการปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน สะบัก มีอาการชาที่แขนหรือที่นิ้วมือ และอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย มีการเคลื่อนไหว โดยอาการมักจะขยับคอได้ลำบาก โดยพบได้ในช่วงเวลาช่วงเช้า (Morning stiffness) จากการเสื่อมของกระดูกคอ และมีบางอาการเจ็บร่วมด้วย บางครั้งอาจพบจุดกดเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นคอและบ่า ส่วนมากอาการปวดจะเป็นอาการแรก ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ที่จะมาพบแพทย์ อาการอย่างอื่นที่อาจจะเจอได้เรื่อยๆ เช่น อาการทางเส้นประสาท มีอาการปวดร้าวลงแขน มือ หรือ มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย มีอาการคอขยับไม่ได้ ติดแข็ง หรือ มีคอเอียงผิดรูป อาการปวดคอมักจะมีอาการร่วม คือปวดศีรษะร่วมด้วย เช่น อาการปวดบริเวณข้างแก้ม ขมับรอบดวงตา บนหนังศีรษะ หรือชาบริเวณใบหน้า โดยอาการเหล่านี้จะมีหลายกลุ่มโรคที่เกี่ยว

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการรายงานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอค่อนข้างน้อยจึงทำให้ไม่ทราบอัตราของผู้ป่วยที่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอจะเจอได้มากในกลุ่มอายุระหว่าง 40 ถึง 60 ปี เจอในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงาน ฮอร์โมน เป็นต้น ลักษณะทางกายภาพของคอ โดยอาการปวดคอสามารถเริ่มตั้งแต่ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และระบบกระดูกและข้อ ซึ่งจะมีความซับซ้อน เช่น เส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท ไขสันหลัง ข้อต่อ และหมอนรองกระดูก โดยการหมุนของคอจะอาศัยสิ่งเหล่านี้ในการเคลื่อนไหว นอกจากนั้นบริเวณคอ จะมีระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ระบบการหายใจ ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบการเคี้ยวและกลืน ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น
แบ่งกลุ่มของอาการปวดได้เป็น 3 แบบ
1. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอทั่วไป
2. อาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับเส้นประสาท
3.อาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับไขสันหลัง อาจจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงทั้งตัว เดินเซได้ อาจจะเดินไม่สะดวก ทรงตัวลำบาก บางรายอาจมีอาการของระบบขับถ่ายที่ผิดปกติร่วมด้วย


สาเหตุของอาการปวดคอ จะแบ่งได้หลายแบบ ได้แก่
1. ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
2. อุบัติเหตุ
3. เนื้องอกและมะเร็ง
4. ภาวะติดเชื้อ
5. ภาวะการเสื่อมของกระดูกและหมอนรอง
6. ภาวะอักเสบ
โดยภาวะการเสื่อมและภาวะอักเสบเป็น 2 สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

สาเหตุของอาการปวดตามกายวิภาค จะสามารถแบ่งได้เป็น
1. ระบบโครงสร้างของร่างกาย ส่วนของข้อต่อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูก
2. ระบบเนื้อเยื่ออ่อน บริเวณผิวหนังหรือชั้นใต้ผิวหนัง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเริม หรือโรคงูสวัด ระบบกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
3. ระบบประสาทได้แก่ ทางสมอง เส้นประสาท สมอง ไขสันหลัง รากประสาทและเส้นประสาท ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอได้
4. ระบบอื่นๆ เช่นระบบหายใจ ระบบการเคี้ยวหรือกลืนอาหาร ระบบการได้ยิน ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ เช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณฟันก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดคอได้

โรคที่พบได้บ่อย เช่น อาการปวดจากระบบกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่นโรคออฟฟิศซินโดรม ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและไขสันหลัง ภาวะอักเสบของข้อต่อและหมอนรองกระดูก ระบบสมอง หรืออาการปวดคอจากความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอก
สำหรับสาเหตุที่พบได้บ่อย คือจากการทำงาน เช่น ยกของ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน การนอน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่พบได้บ่อย ภาวะเสื่อมอักเสบ กดทับเส้นประสาท ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ


อาการปวดคอแบบไหนที่เป็นสัญญาณอันตราย
1. มีอาการปวดคอยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์โดยไม่ทราบสาเหตุ
2. อาการปวดคอภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
3. มีอาการกดทับของเส้นประสาทร่วม โดยจะมีอาการ อ่อนแรงของแขนและขา มีอาการชา หรือปวดร้าวไปที่แขนร่วมด้วย ปัสสาวะอุจจาระผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์
4. มีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบอื่นๆของร่างกายร่วมด้วย
5. มีไข้เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
6. ไม่สามารถเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆได้เป็นปกติ

การหาสาเหตุของอาการปวดคอ
1. การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย
2. ส่งตรวจทางรังสีเอกซเรย์ CT Scan หรือ MRI
3. การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น เรื่องเก๊าท์ รูมาตอย SLE
4. การส่งตรวจอื่นๆ เช่น การนำไฟฟ้าของเส้นประสาท

การรักษาโรคปวดคอ
1. ไม่ผ่าตัด โดยผู้ป่วย 95% ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เป็นการรักษา โดยการพักผ่อน ปรับลักษณะชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย การกินยา ฉีดยา การทำกายภาพบำบัด การนวด ฝังเข็ม หรือการจัดกระดูก การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น Support เป็นต้น
2. การผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อเราให้การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท
เมื่อไหร่มีความเสื่อมของร่างกาย ข้อต่อและหมอนรองกระดูกคอ ก็จะเกิดภาวะอักเสบขึ้น ทำให้มีการเสียรูปร่าง โดยจะไปทับเส้นประสาทได้ ซึ่งนอกจากการกดทับแล้วอาจเกิดภาวะหลวมของข้อต่อกระดูกคอ เมื่อเกิดการหลวมหรือการอักเสบนานๆ ทำให้ร่างกายสร้างกระดูกงอกขึ้นเพื่อทำให้กระดูกคอมั่นคงขึ้น แต่ทั้งนั้นเมื่อกระดูกงอกผิดที่ ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดการทับเส้นประสาทได้ ซึ่งไม่ใช่สาเหตุเดียวกับการทานยาแคลเซียม

อาการของกระดูกคอเสื่อม
1. อาการปวดคอเรื้อรังมักจะเป็นๆหายๆ
2. มีการเคลื่อนไหวคอลดลง กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง
3. มีอาการปวดศีรษะ ปวดสะบักไหล่ อาจจะมีอาการชาร้าวไปที่แขนและมือได้

การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท
1. การปรับพฤติกรรม ปรับชีวิตประจำวัน
2. ควรลุกออกจากโต๊ะทำงานทุกๆ 2 ชั่วโมง
3. ปรับอุปกรณ์ในการทำงาน
4. หลีกเลี่ยงการแบกของหนักและการสะพายกระเป๋าโดยไหล่ข้างเดียว
5. การออกกำลังกาย กล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและสร้างความมั่นคงให้กับกระดูกสันหลังคอได้ โดยแต่ละท่าหรือวิธีการออกกำลังกายแนะนำให้พบนักกายภาพบำบัด เพื่อให้สอดคล้องกับโรคที่เป็น

การผ่าตัดรักษา มีหลักการอยู่ 3 อย่างได้แก่
1. แก้ไขการกดทับ
2. ความมั่นคงของกระดูกคอที่เหมาะสม
3. แก้ไขการผิดรูป

วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง 2 แบบ
1. กล้องแบบ Microscope หรือกล้อง จุลทรรศน์
2. กล้องแบบ Endoscope เป็นแบบแผลเล็ก 8-10 mm.
3. หมอนรองกระดูกคอเทียม


ออฟฟิศซินโดรม
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดคืออาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆเป็นระยะเวลานาน ต่อเนื่องเช่นการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่ขยับซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง

อาการของออฟฟิศซินโดรม
1.ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเช่นไหล่สะบัก มักมีอาการปวดบวมบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย มีลักษณะอาการปวดล้า
2.อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งพบร่วมด้วยเช่น ซ่า วูบ เย็นเหน็บ ซีด เหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าหากเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า
3. อาการทางระบบประสาท ที่ถูกกดทับ เช่นอาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีอาการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป

การป้องกันเพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม
1. การปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
2. ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การทำงานที่จำเป็น
3. เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่นการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องใช้งานหนัก การยืดกล้ามเนื้อก่อน ระหว่าง และหลังจากการทำงานในแต่ละวัน

การรักษา
1. ปรับพฤติกรรม
2. ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงาน
3. การออกกำลังกาย
4. การรักษาโดยการใช้ยา
5. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู


ข้อมูลโดย อ.นพ.สุทธิภาศ พงศ์มณี อาจารย์ประจำหน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#ปวดคอสัญญาณอันตราย
#MedCMU
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรสวนดอก
#COVID19
#ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#ใส่Mask #เว้นระยะห่าง #ล้างมือ
แกลลอรี่