ภาวะฮีทสโตรก เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนร่างกายไม่สามารถที่จะระบายความร้อนออกได้ทัน ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมอง และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โครงสร้างอวัยวะต่างๆเหล่านี้จะทำงานล้มเหลว ดังนั้นจึงส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเสียชีวิตได้อีกด้วย และจากข้อมูลพบว่าในช่วง 7 ปี คนไทยเสียชีวิตจากภาวะนี้ประมาณ 234 ราย หรือปีละ 33 ราย และป่วยเฉลี่ย 2,500 - 3,000 รายต่อปี
อุณหภูมิของร่างกายที่เหมาะสม มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกายและเซลล์ หากอุณหภูมิสูงเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายและเซลล์ในร่างกาย ทำงานผิดปกติได้ โดยปกติ อุณหภูมิในร่างกายจะอยู่ที่ 36.7 - 37.5 องศาเซลเซียส เมื่อเกิดภาวะฮีทสโตรก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิในร่างกาย เกิน 40.5 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นอวัยวะต่างๆ จะได้รับความเสียหาย
เมื่อเกิดความร้อนในร่างกาย สิ่งที่ร่างกายจะปรับตัว คือร่างกายจะมีการส่งสัญญาณไปยังสมอง โดยที่สมองส่วนแรก จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางพฤติกรรม เมื่ออากาศร้อน จะหาที่ร่ม หาเครื่องดื่มที่เย็นดื่ม และอีกส่วนจะเกิดการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดการปรับตัวขึ้น โดยอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจ ซึ่งจะทำงานหนักกว่าเดิมเกิน 2 เท่า และผิวหนัง จะมีการปรับตัว 2 อย่างด้วยกัน คือ มีการหลั่งเหงื่อมากขึ้น เพื่อระบายความร้อนได้มากขึ้น และเส้นเลือดที่อยู่บริเวณผิวหนังจะมีการขยายตัวเพื่อรองรับเลือดที่ส่งมาสู่ผิวหนังให้มากขึ้น ซึ่งเลือดจะเป็นตัวนำความร้อนจากแกนกลางในร่างกายมาสู่ผิวหนัง ก่อนจะนำพาความร้อนที่บริเวณผิวหนังกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป
ขั้นตอนที่สำคัญของการระบายความร้อนคือ เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นยังแกนกลางของร่างกาย หัวใจจะปั๊มเอาเลือดซึ่งนำความร้อนไปยังเส้นเลือดที่ผิวหนัง เมื่อความร้อนไปกับเลือดไปยังผิวหนัง จะมีระบบการนำพาความร้อนออกสู่บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และมีการหลั่งเหงื่อมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูง จะมีการทำงานของหัวใจหนักมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยโรคหัวใจจึงมีความเสี่ยงของการเกิด ฮีทสโตรก สูงขึ้น
สรุปได้ว่า ฮีทสโตรก เกิดจากความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกาย มากกว่าความร้อนที่ระบายออกจากร่างกาย เมื่อความร้อนระบายออกจากร่างกายไม่ทัน ความร้อนหรืออุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เซลล์และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานล้มเหลวตามมา
ฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ประเภทคลาสสิก เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับร่างกายมีความบกพร่องของกลไกระบายความร้อน มักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
2. ประเภทที่มีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหนัก เช่น นักกีฬาที่ออกกำลังกายในสภาพที่อากาศร้อนจัด ผู้ใช้แรงงานในที่ที่สภาพอากาศร้อนจัดและออกแรงมาก ทหารเกณฑ์ที่ร่างกายไม่ฟิตและได้รับการฝึกหนักในสภาพอากาศร้อน หรือกลุ่มเกษตรกร
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะฮีทสโตรก
1. การอยู่ในสภาพอากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
2. พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
3. สภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง มีโรคหัวใจ โรคระบบประสาทช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
4. การใช้ยาบางชนิด ที่รบกวนต่อระบบการระบายความร้อนของร่างกาย เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาทางจิตเวช เป็นต้น
5. การใช้สารเสพติด สารกระตุ้น และการดื่มสุรา
อาการเบื้องต้นของฮีทสโตรก
- ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูง เกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการทางสมอง เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้น ทำให้เกิดอาการทางสมอง ได้แก่ พฤติกรรมผิดปกติ สับสน กระวนกระวาย ตอบสนองช้า เดินเซ อาการชัก โคม่า
ผลกระทบของภาวะฮีทสโตรก
- ความผิดปกติของระบบเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายในหลอดเลือด
- ระบบหายใจล้มเหลว
- การทำงานของตับผิดปกติ ไตวาย
- หัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว
- ภาวะกล้ามเนื้อสลาย
การป้องกันตัวเองจากฮีทสโตรก
- สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- คลายร้อนด้วยพัดลม เครื่องปรับอากาศ หรืออาบน้ำเย็นบ่อยๆ
- เลี่ยงหรือลดการทำงานหนัก
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแดด ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยฮีทสโตรก
- ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาล
- ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม หรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
- คลายเสื้อผ้า ปลดเข็มขัด ถอดรองเท้า ถุงเท้าออก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ยิ่งขึ้น
- กันผู้คนที่ห้อมล้อมผู้ป่วยออก เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น
- จัดท่านอนศีรษะราบ หาของมารองปลายเท้า
- ลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามร่างกาย รักแร้ คอ ขาหนีบ หรือประคบเย็น หรือใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
- หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ เพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.อธิวัฒน์ สุนทรพันธ์ อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่