นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกา “Newsweek” ได้ทำการจัดอันดับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2565 หรือ The World’s Best Hospitals 2022 ใน 27 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ปีนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 12 "โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2565" นับเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุด อันดับ 1 ในระดับภูมิภาคของประเทศ สำหรับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าวมาจากปัจจัยเปรียบเทียบ เช่น มาตรฐานการครองชีพ อายุขัย ขนาดประชากร จำนวนโรงพยาบาล และความพร้อมของข้อมูล
การให้คะแนนในแต่ละโรงพยาบาลมาจาก 3 แหล่ง คือ การแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ ผู้จัดการโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ กว่า 80,000 คนทั่วโลก ผลการสำรวจประสบการณ์และความพึงพอใจของผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษา และตัวชี้วัดประสิทธิภาพทางการแพทย์ของโรงพยาบาล อาทิ คุณภาพการดูแลรักษาเฉพาะทาง มาตรการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยของผู้ป่วย และจำนวนผู้ป่วยต่อแพทย์และพยาบาล เป็นต้น เทียบเคียงคะแนนระหว่างโรงพยาบาลในประเทศเดียวกันเท่านั้น และส่งไปยังเครือข่ายสื่อทางการแพทย์ระหว่างประเทศ รวมถึงคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อร่วมตรวจสอบความถูกต้องในการจัดอันดับ
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโรงพยาบาลในกำกับ 3 โรงพยาบาลหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) โรงพยาบาลศูนย์ศรีพัฒน์ และโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเป็นที่น่ายินดีที่ปี 2565 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้รับการจัดลำดับให้เป็น โรงพยาบาลอันดับ 1 ที่ดีที่สุดในระดับภูมิภาคของประเทศ
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของภาคเหนือ มีผู้ป่วยนอกประมาณ 1.5 ล้านรายต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 5 หมื่นรายต่อปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเป้าหมายที่จะนำพาโรงพยาบาลมหาราชฯ ก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ เพื่อยกสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ในขณะนี้เราได้ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการของคณะฯ กลยุทธ์หลักคือ "MEDCMU" โดยทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีแผนกลยุทธ์สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการเป็นโรงพยาบาลในดวงใจของประชาชนทุกคน
ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่านการประเมินด้านต่างๆ ได้แก่ การรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาลขั้นก้าวหน้า (Advanced HA : AHA) และได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ทำให้องค์กรของพวกเราก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่เรียกว่า องค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization) ปัจจุบันเราได้มีการปรับกายภาพ และระบบโลจิสติกส์ต่างๆ อาทิเช่น การปรับปรุงพัฒนาในส่วนของระบบผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวนสุจิณฺโณ (โครงการ SAVE SUJINNO) และการปรับปรุงห้องผ่าตัด ห้องสังเกตอาการ โดยมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการปรับกายภาพเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ตามค่านิยมของพวกเราคือ การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก (Customer Focused) และการบริการอย่างมีคุณภาพ (Quality) โดยมีทีมเวิร์คที่ดีเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวมาถึงจุดนี้
ทางโรงพยาบาลได้มีระบบรับฟังเสียงลูกค้า (Voice of Customer) ซึ่งนำมาปรับปรุงระบบต่างๆให้ดีขึ้น โดยเน้นวัฒนธรรมองค์กร คือ “Suandok Safety Culture” นั่นหมายถึง วัฒนธรรมความปลอดภัยของสวนดอก ทางโรงพยาบาลได้เริ่มนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบริหารการจัดการ ล่าสุดมีการนำระบบ Telemedicine มาใช้ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย มีการสื่อสารกันผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Video Conference มีระบบหุ่นยนต์จัดยา และระบบส่งยากลับบ้าน ซึ่งระยะต่อไปจะมีการใช้ระบบไอทีต่างๆ มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มรูปแบบ
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เน้นความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจว่าเราจะเป็นโรงพยาบาลในดวงใจของประชาชนด้วยวัฒนธรรมที่พวกเราภาคภูมิใจ “ DNA คนสวนดอก ”คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
ด้าน ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนา กระบวนการรักษาให้ได้คุณภาพ เพื่อไปสู่มาตรฐานสากลยิ่งขึ้น โดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีจุดเน้นที่สำคัญ 4 ด้านด้วยกัน คือ
1.ความปลอดภัยด้านการรักษา เพื่อให้ผู้ที่เข้ามารับการรักษาได้อย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพอย่างสูงที่สุดตามมาตรฐานสากล 2.โรงพยาบาลฯ มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยให้กับผู้ป่วย และให้สิ่งแวดล้อมนั้นสร้างความสะดวกสบาย สร้างความสุขกายสุขใจกับผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในด้านของความรู้สึก คุณภาพของการดูแล และทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าการรักษาในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องที่ทุกข์ทรมานอีกต่อไป 3.โรงพยาบาลได้มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค เนื่องจากเราเป็นโรงเรียนแพทย์ และเป็นโรงพยาบาล ที่มีผู้มีความสามารถ และนักวิชาการอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์กร ความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทาง และมีการขอการเยี่ยมประเมิน ความชำนาญเฉพาะทางของโรงพยาบาลให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจว่า เมื่อเจ็บป่วยโรคจำเพาะจะได้รับการรักษา ให้ได้ผลที่ดีเลิศ 4.การพัฒนาโรงพยาบาลเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยมีดิจิตอลเป็นตัวขับเคลื่อนคุณภาพที่สำคัญ เนื่องด้วยโรคปัจจุบันกำลังเคลื่อนตัว เข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ การที่โรงพยาบาลจะรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านดิจิทัล และไอที เข้ามาช่วยดูแล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกระบวนการบันทึกเวชระเบียน ในการรักษากระบวนการในการส่งตรวจ วินิจฉัยโรค กระบวนการในการชำระเงิน หรือลงทะเบียนเข้ารับการบริการ หรือกระบวนการเข้ารับคิวในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย รวมไปถึงความปลอดภัยทางยาโดยจะใช้ระบบดิจิตอลเข้ามาขับเคลื่อน และในอนาคตอันใกล้นี้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ยังมุ่งมั่นที่จะใช้ระบบแพทย์ทางไกล เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล ในทุกครั้งที่อยากจะเข้าพบแพทย์สามารถพบแพทย์โดยผ่านหน้าจอมือถือ และสามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างสะดวกสบาย
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเรามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และพัฒนากระบวนการรักษาให้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่เป็นเลิศตามมาตรฐานสากล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้ป่วยและผู้ที่มารับบริการด้านการรักษาทุกคน มีความปลอดภัย ได้รับประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงสุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอย่างที่สุดเมื่อได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลแห่งนี้”
ทั้งนี้ ในปี 2565 นี้ ประเทศไทย มีโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 30 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน สำหรับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดลำดับเป็นอับดับที่ 12 มีคะแนน 75.03ฝ% นับเป็นอันดับ 1 ของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในระดับภูมิภาคของประเทศไทย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่