29 ตุลาคม วันโรคหลอดเลือดสมองโลก (WORLD STROKE DAY)

30 ตุลาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

29 ตุลาคม ของทุกปี คือวันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการดูแลรักษาตนเองและคนรอบข้าง ให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต หรือสโตรก เป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกควรตระหนัก ให้ความสำคัญ และรู้จักการป้องกัน

Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง สำคัญอย่างไร ?
โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่สำคัญมากของคนไทย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจขาดเลือด โดยทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12.2 ล้านคน (หรือมีผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนในทุก 3 วินาที) และเสียชีวิต 6.5 ล้านคน
จากรายงานสถิติสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข ในประเทศไทย พบว่า ในปี 2563 พบผู้ป่วยบางรายที่พิการทุพพลภาพ ซึ่งน้อยมากที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ จึงนับว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต และแม้ว่าจะไม่เสียชีวิต แต่อาจทำให้เกิดความพิการระยะยาวได้ ผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการ “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติฯ” โดยปีนี้จัดในหัวข้อ “คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทย” โดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตระหนักถึงการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ภายในงาน ประกอบไปด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจคนไทยทั้งชาติ และทรงเป็นแบบอย่างในการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายแก่พสกนิกรชาวไทย และนิทรรศการให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เวทีเสวนา การตอบปัญหาสุขภาพ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคฯ การเผยแพร่แผ่นพับ/โปสเตอร์เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การป้องกัน และการบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคฯ การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฯ บริการวัดความดันโลหิต และสอนการจับชีพจร และมีการสัญจรให้ความรู้เรื่อง Stroke ไปยังโรงเรียนต่างๆ จากกิจกรรมที่จัดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า หัวใจสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เมื่อเป็นแล้วต้องได้รับการรักษา

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร ?
โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก และเกิดความผิดปกติ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือเส้นเลือดสมองตีบ และเส้นเลือดสมองแตก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีวิธีรักษาไม่เหมือนกัน
อาการเหล่านี้ เป็นอาการระบบประสาท สามารถสังเกตได้ตามหลัก F.A.S.T ดังนี้
F = Face ใบหน้าชา ปากเบี้ยว มุมปากตก กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
A = Arm แขน ขา อ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวลำบาก
S = Speech พูดไม่ออก ลิ้นแข็ง หรือ พูดไม่ชัดอย่างทันทีทันใด
T = Time รู้เวลาที่เริ่มมีอาการ คือ รู้ว่าเริ่มมีอาการเป็นเวลานานเท่าใด นับจากที่มีอาการผิดปกติ หรือนับจากเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการปกติเป็นครั้งสุดท้าย และรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อการตรวจและวินิจฉัย ภายใน 4.5 ชั่วโมง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ คือ
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น เพศ ซึ่งเพศชายพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง รวมถึงเชื้อชาติ พันธุกรรม เป็นต้น
2. ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความอ้วน การขาดการออกกำลังกาย

การตรวจวินิจฉัยโรค ทำได้ ดังนี้
– การตรวจคัดกรอง (พูดไม่ชัด มุมปากตก ยกแขนไม่ขึ้น) หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ให้รีบพามาพบแพทย์
– ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการเอกซเรย์สมอง

แนวทางการรักษา
เมื่อโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเปิดหลอดเลือดอย่างเร่งด่วน แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด เพราะฉะนั้น ยาละลายลิ่มเลือด จะมีช่วงที่ได้ประโยชน์จากการให้ยา ซึ่งจะอยู่ได้ 4.5 ชั่วโมง หลังจากที่มีอาการเท่านั้น โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ภายใน 4.5 ชั่วโมง โอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น ให้รีบมาพบแพทย์ หรือรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
– ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง
– เลิกสูบบุหรี่
– ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
– ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
– รับประทานผลไม้และผักให้มากยิ่งขึ้น
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
– ลดการดื่มสุรา

อย่างไรก็ตาม หากสมองตีบและแตก เมื่อขาดเลือด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นภาวะสมองตาย ซึ่งโอกาสที่จะรอดชีวิตนั้นน้อยมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือไม่ได้อยู่ที่การรักษา แต่คือการป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.ชุติเทพ ทีฆพุฒิ อาจารย์หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่