คณบดีคณะแพทย์ มช. - ผอ.รพ.สวนดอก เผยผลงาน และความก้าวหน้าของพันธกิจหลักของคณะฯ พร้อมเดินหน้ายกระดับการให้บริการประชาชน เพื่อก้าวสู่การเป็น “คณะแพทย์ในดวงใจ โรงพยาบาลในดวงใจ”

9 มิถุนายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลงานและความก้าวหน้าในด้านการบริหารงานของคณะฯ ในช่วงที่ผ่านมาพบผลงานมีความก้าวหน้าหลายด้าน เริ่มด้วย “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต “ CMEx Lifelong Learning Center ” แห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อให้บริการด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยจะก้าวสู่ Medical Learning Hub เพื่อรองรับบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม มีกิจกรรมด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ สำหรับการฝึกอบรมของศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (CMEx Lifelong Learning Center) ในเฟสแรกได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยมุ่งเน้นการดูแลและป้องกันโรคหัวใจเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆในประเทศไทย
ผลงานความภาคภูมิใจของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในลำดับถัดไปคือฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ให้ได้รับรางวัล " ทีมงานดีเด่น ประจำปี 2565 " จากสมาคมฯ ในงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) "Medication Management System in the 21st Century:Shining a Spotlight on Hospital Pharmacists" การได้รับรางวัลในครั้งนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรในโรงพยาบาลอย่างมาก และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาการทำงานของบุคลากรทุกภาคส่วนของโรงพยาบาลต่อไป
สำหรับผลงานของของสโมสรนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มช. มีการจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการนานาชาติ ในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการแข่งขันในปีนี้ใช้ชื่อว่า “CMU-IMC” หรือ CMU International Medical Challenge แข่งขันในหัวข้อเรื่อง “ชีวเคมีด้านโมเลกุล” โดยมีประเทศที่เข้าร่วม 7 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 38 ทีม เป็นทีมจากต่างประเทศจำนวน 20 ทีม กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาแพทย์ ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนต่างชาติ ได้แลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และก่อให้เกิดความร่วมมือของนักศึกษาแพทย์ในด้านต่างๆ ต่อไป
ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มช.ได้มีนโยบายในการก้าวเข้าสู่องค์กรดิจิตอล ผ่านกลไก Digital Transformation โดยจะนำเอาระบบดิจิทัล เทคโนโลยี มาปรับใช้ในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา การวิจัย และการบริการ ตามที่ทราบคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เปิดหลักสูตร “โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” (หลักสูตร 2 ปริญญา) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รวมกับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาการข้อมูลใช้ระยะเวลาเรียน 7 ปี เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าว สามารถนำองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูล เพื่อแก้ไขปัญหา หรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึกในการพัฒนาระบบโรงพยาบาล เร็วๆนี้มีการลงนามความร่วมมือร่วมกับวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CAMT) เพื่อนำคณะฯไปสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน โดยเน้นเรื่องการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์เป็นหลัก
แผนต่อไปในอนาคตของคณะแพทยศาสตร์ มช. มุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีความร่วมมือ ในช่วงที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลหลายประเทศได้มาเยี่ยม คณะแพทยศาสตร์ มช. และมีนักศึกษาปริญญาเอกจากหลายประเทศมาศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มช. และในอนาคตอันใกล้จะมีนักศึกษาเข้ามาศึกษาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ในส่วนของนวัตกรรมด้านสุขภาพ คณะฯได้มีการรับรองทูตพาณิชย์ประเทศออสเตรีย มีการกล่าวถึง ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District) หรือ SMID” ซึ่งจะเป็นกิจกรรมเริ่มต้นด้าน Innovation ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสถาบันการแพทย์ในประเทศออสเตรีย
ด้านงานวิจัย คณะฯเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานวิจัยด้านสุขภาพที่มีผลต่อประเทศชัดเจน คณะกำลังจะเปิดศูนย์วิจัยด้านอาหารและสมุนไพรด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาอาหารที่มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม คณะยังมุ่งเน้นการวิจัยในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยโรคโรคธาลัสซีเมีย
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ว่า “สถานการณ์โควิดฯ เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งหมายความว่า เมื่อตัวเลขผู้ป่วยมีจำนวนไม่มาก ผู้ป่วยหนักย่อมไม่มากเช่นเดียวกัน ทำให้สถานการณ์การบริหารจัดการเรื่องเตียงผู้ป่วยดีขึ้น ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด -19 ที่เป็นผู้ป่วยหนักที่เข้ารับรักษาในความดูแลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากเดิม 40-50 ราย ลดลงเหลือเพียงประมาณ 10 ราย ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการหนักอยู่บ้าง ส่วนใหญ่มีอาการลงปอด หรือบางรายจะมีโรคอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยที่อาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้ มีเพียง 2 ราย โดยรวมนับว่าสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ
คาดว่าในอนาคตอันใกล้ หากตัวเลขผู้ป่วยไม่มาก และไม่เพิ่มขึ้นอีก อาจจะปิดพื้นที่การใช้ cohort ward ณ หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลสงฆ์ ให้เหลือพื้นที่เดียวคือหอผู้ป่วยโรคปอด ตึกนิมมานเหมินทร์ ในขณะที่ส่วนของกลุ่มผู้ป่วย Home Isolation และ OPSI ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 90 กว่าราย
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ต้องรอฟังแนวทางของรัฐบาลอีกครั้งในแง่ของการป้องกันและควบคุมการระบาดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ กล่าวถึงนิยามที่เตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ว่า คำว่า “โรคประจำถิ่น” หมายความว่าเราต้องอยู่กับโรคนี้ให้ได้ ต้องมีความระมัดระวัง ปรับตัวดำรงชีวิตได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะว่า ในมาตรการการเข้าสู่มาตรการโรคประจำถิ่นนั้น หากเรายังอยู่ในห้องปิด อากาศไม่ได้ถ่ายเท ก็ยังคงต้องสวมใส่หน้ากากอยู่ ต้องล้างมือ ต้องรักษาระยะหว่างอยู่เช่นเดิม แต่เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หรืออยู่นอกอาคารก็น่าจะมีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากได้ แต่ต้องรอให้มีความชัดเจนก่อน”
ในด้านของการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ขณะนี้ ผู้อำนวยการ รพ. ชี้แจงว่า ความประสงค์ของผู้ที่มีความต้องการรับวัคซีนมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากในระยะหลังพบว่าความรุนแรงของโรคลดลง จำนวนผู้ป่วยลดลง เมื่อมีผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม หรือ 3 เข็ม ไปแล้ว จำนวนผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับบริการก็ลดน้อยลงตามลำดับ การบริการวัคซีนของโรงพยาบาลก็ลดลงตามความต้องการของภาคประชาชน ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนกับทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และเมื่อถึงเวลาจะรับเข็มกระตุ้น ทางโรงพยาบาลจะส่งข้อความ แจ้งวันและเวลา เพื่อให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน แต่จากความต้องการวัคซีนที่เริ่มลดลงตามลำดับ ดังนั้นในเดือนนี้จะมีการฉีด On-site เพียง 2 วัน คือวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน และ 24 มิถุนายน 2565 (ณ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มช.) สำหรับผู้ที่ได้รับข้อความจากโรงพยาบาล กรุณามารับวัคซีนตรงวันและเวลาที่ทางโรงพยาบาลกำหนดไว้ให้
สำหรับการบริการนอกสถานที่คือตามโรงเรียนต่างๆ ที่เคยรับวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาแล้ว เมื่อครบกำหนด ทางโรงพยาบาลก็ยังจะมีบริการฉีดเข็มกระตุ้นให้ที่โรงเรียนตามเดิม ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากจังหวัด
ทั้งนี้ตั้งแต่กลางเดือน กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ทางโรงพยาบาลจะย้ายระบบการให้บริการวัคซีนเข้าสู่การบริการปกติในโรงพยาบาล คือการบริการผู้ป่วยนอก ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถที่จะบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบแล้ว ส่วนอนาคตอาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดวัคซีนตามฤดูกาล ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะประกาศต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาการบริการในโรงพยาบาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพยายามก้าวไปสู่การเป็นโรงพยาบาลในดวงใจ ดังที่ตั้งปณิธานเอาไว้ ระหว่างนี้ได้มีการสำรวจความต้องการของผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการของโรงพยาบาล ว่าอยากให้โรงพยาบาลในดวงใจเป็นแบบไหน โดยผลสำรวจพบความต้องการมา 4 เรื่องคือ 1. แพทย์ต้องเก่ง รักษาให้หาย 2.การให้บริการที่ดี มีความอบอุ่นใจเมื่อเข้ารับบริการ 3.ความรวดเร็ว ซึ่งทาง รพ.ได้ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนลง โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น 4.ปรับปรุงกายภาพใน รพ. เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ทันสมัยยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าว.


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดตามผ่านช่องทาง
YouTube : https://cmu.to/fJQnZhttps://www.youtube.com/watch?v=om8egM0LVzw
#คณะแพทย์ในดวงใจ
#โรงพยาบาลในดวงใจ
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่