นิ่วในไต ต้องมีวินัย ถ้าอยากหายขาด

23 มิถุนายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

หลายท่านอาจเคยรู้สึกปวดหลังรุนแรงบริเวณเอวด้านหลัง เจ็บขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีสีเปลี่ยนไป ขุ่น หรือมีกลิ่นเหม็น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณเข้าสู่ภาวะ “นิ่วในไต”ได้
นิ่วเกิดจากผลึก และแร่ธาตุที่มีการตกตะกอนรวมตัวเป็นก้อน โดยปกติไตมีหน้าที่ในการกรองของเสียในร่างกาย และขับออกมาในปัสสาวะ ดังนั้นปัสสาวะของเราจะมีส่วนประกอบเป็นสารละลายและแร่ธาตุหลายชนิด ผู้ที่เป็นนิ่วแสดงว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้เกลือแร่มีการรวมตัวกัน กลายเป็นผลึกและเป็นของแข็ง เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยตามมาได้ ผู้ป่วยที่พบว่าเป็นนิ่วในไตมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะทางภาคเหนือหรือภาคอีสาน
นิ่วชนิดต่างๆ
-นิ่วแคลเซียม (แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต) พบ70-80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย
-นิ่วยูริก เกิดจากการตกตระกอนหรือตกผลึกของสารยูริก
-นิ่วจากการติดเชื้อ(นิ่วสตรูไวท์) เกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
-อื่นๆ เช่น นิ่วซีสทีน นิ่วจากยาบางชนิด
กลไกของการเกิดนิ่ว
มีสารก่อนิ่วในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ได้แก่ แคลเซียม ออกซาเลต ฟอสเฟต และยูริก
มีสารยับยั้งการก่อนิ่วลดลง ได้แก่ ซิเตรท แมกนีเซียม โพแทสเซียม โปรตีนยับยั้งนิ่ว
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่ว
ปัจจัยภายใน
-พันธุกรรม
-เพศชายพบบ่อยมากกว่าเพศหญิง และอยู่ในอายุระหว่าง 30-60 ปี
-ความผิดปกติของไต
โรคบางชนิด พาราไทรอยด์ โรคเมตาบอลิก
ปัจจัยภายนอก
-ภูมิอากาศ
-ภาวะขาดน้ำ
-อาหาร เค็ม โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทานวิตามินซีเกิน 1000 มก/วัน
-ยาบางชนิด
อาการของนิ่วทางเดินปัสสาวะ
-ปวดบั้นเอว
-ปวดท้องน้อยร้าวลงขาหนีบ
-ปัสสาวะปนเลือด
-ปัสสาวะมีตะกอนหรือเม็ดทรายหลุด
-ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่น
-มีไข้ หนาวสั่น
การวินิจฉัย
-ตรวจปัสสาวะดูความผิดปกติของปัสสาวะ และเม็ดเลือดในปัสสาวะ
-ตรวจทางรังสีด้วยการ X-ray, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan)
การรักษานิ่ว
-หากมีขนาดเล็ก แพทย์จะสังเกต ติดตามอาการ เพราะหากไม่เกิน 5 มิลลิเมตร นิ่วมีโอกาสหลุดได้เอง
-การรักษาด้วยยา สามารถใช้ยาละลายได้เฉพาะนิ่วยูริก นิ่วชนิดอื่นไม่สามารถละลายได้
-หากนิ่วมีขนาดใหญ่ไม่สามารถหลุดเองได้ แพทย์จะทำการการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกให้นิ่วมีขนาดเล็กลงและหลุดออกมาเอง แต่อาจจะไม่แตกหรือหลุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะขนาดและความแข็งของนิ่ว
-หากนิ่วมีลักษณะที่ไม่เหมาะกับการสลายนิ่ว การรักษาจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องรักษานิ่ว โดยจะมี 2 วิธี ได้แก่
แบบไม่มีแผล คือสอดท่ออุปกรณ์ไปยังท่อปัสสาวะขึ้นไปที่ท่อไตและไตเพื่อทำลายนิ่ว
แบบมีแผล คือเจาะผ่านทางผิวหนังเข้าไปในไต เพื่อกำจัดนิ่วออก เหมาะสำหรับการรักษานิ่วขนาดใหญ่
การป้องกันการเกิดนิ่ว
-ดื่มน้ำปริมาณมาก
-ลดอาหารเค็ม
-ลดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น งา ผักโขม ถั่ว ช็อกโกแลต ชา
-ทานอาหารแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม
-ควบคุมน้ำหนัก
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแพทย์จะทำการรักษานำนิ่วออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เมื่อผู้ป่วยเป็นแล้วแพทย์จะทำการแนะนำเพื่อป้องกันและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ด้วยการปรับพฤติกรรมด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณมาก เพื่อให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นต่ำ ปริมาณน้ำที่ควรดื่ม ดื่มในปริมาณ 3 ขวด(1.5 ลิตร)ต่อวัน รวมถึงควบคุมอาหารและน้ำหนักให้เหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.นพ.พฤทธ์ กิติรัตน์ตระการ หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#นิ่วในไต
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่