มช.พัฒนากัญชงพันธุ์ไทย ลุยวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต

9 สิงหาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

         ปัจจุบัน หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากคงหนีไม่พ้น “กัญชง” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นการสร้างประโยชน์ทางการรักษา ยึดมั่นในคุณค่าเชิงบวกของสารสกัด จึงเกิดการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ “วิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชงระดับคุณภาพสูง เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม” ร่วมกับ บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด มุ่งพัฒนาการทดลองตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องสำอางและอาหารเสริม รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเส้นใย ผลักดันอุตสาหกรรมกัญชงตลอดห่วงโซ่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมและประเทศไทย

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ และบุคลากร เดินหน้าการวิจัยตั้งแต่จุดเริ่มต้นโดยทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์พัฒนาสายพันธุ์กัญชงที่ เป็นสายพันธุ์ในประเทศ ส่งต่อแก่ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์เพื่อสกัดเอาสารสำคัญที่มีคุณภาพสูง สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์โดยทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านเครื่องสำอางและอาหารเสริม โดยทีมวิจัยคณะเภสัชศาสตร์และคณะอุตสาหกรรมเกษตร รวมไปถึงการนำเส้นใยมาใช้ประโยชน์ต่อจนครบวงจรโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยจะนำไปสู่เป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมกัญชง และสร้างมูลค่าทางพาณิชย์สู่สังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเวทีโลกได้ในอนาคต

         ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเกี่ยวกับการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของกัญชงว่า กัญชงเป็นสารเสพติดควบคุมที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เส้นใยกัญชงที่มีความเหนียวแน่น ไปจนถึงสารสกัดสำคัญแต่ละสายพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันไป กัญชงเองที่ในอดีตคือการใช้ด้านบวกซึ่งจำเป็นต้องประกอบเข้ากับองค์ความรู้ ว่าแต่ละชนิดจะต้องปลูกอย่างไรเพื่อจะได้สาร CBD และ THC ในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างไร เพื่อจะต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเป็นผลผลิตที่จะช่วยทางการรักษา และส่งเสริมสุขภาพ สิ่งนี้คือสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าจะได้รับองค์ความรู้จากสถาบันศึกษาที่ได้ดำเนินการ ร่วมกับ ภาคเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในด้านบวกที่ในอนาคตจะกำเนิดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ สามารถนำมาพัฒนาต่อไปเช่นเดียวกับสารอื่น ๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสุขภาพต่อไป

        ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงการใช้กัญชงในงานวิจัยครั้งนี้ว่า ทีมวิจัยใช้ทั้งพันธุ์ไทยและต่างประเทศในการวิจัย เนื่องจากต้องการพัฒนาสายพันธุ์ที่เป็นของไทยเอง สามารถลดการใช้กัญชงสายพันธุ์ต่างประเทศได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทีมวิจัยจากหลากหลายแขนงจะนำเอาผลผลิตเหล่านั้นมาสกัดสารสำคัญ ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากเส้นใย ซึ่งเรียกได้ว่าครบทุกส่วนของต้นได้ครบวงจร คาดการณ์ว่าภายในสองปีนี้จะได้ผลิตภัณฑ์ออกมา ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงข้อกังวลที่มีในสังคมต่อกัญชงไว้ว่า จุดยืนที่ชัดเจนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อ การพัฒนาก่อประโยชน์แก่สังคมและคนไทยทุกคน รวมไปถึงระดับโลก ทางทีมมีขั้นตอนในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และดำเนินผลการใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น หลักการดำเนินการจะมุ่งเน้นทางวิชาการให้เกิดประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมโดยเป็นไปตามหลักสากล

        มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมผลักดันงานวิจัย กำเนิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกภาคส่วน ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนากัญชงให้เกิดประโยชน์เชิงบวกสูงสุดแก่สังคมไทย เดินหน้าอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ สร้างเป็นแหล่งกำเนิดรายได้แก่ประชาชนได้ในอนาคต



แกลลอรี่