กนอ. -มช. ผนึกกำลัง พัฒนา คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรมรับกระแสโลกใหม่

9 ธันวาคม 2565

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์

            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อร่วมกันในการลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม” เพื่อยกระดับการบริหาร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคและเทคโนโลยีมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีคณะผู้บริหารสถาบันฯ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการ  รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุช หลำแสงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้        

              การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม” ยกระดับการบริหาร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคและเทคโนโลยีมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

            นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของ กนอ. ในการมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมขององค์กร ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กนอ. คือ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” ภายใต้เป้าประสงค์การยกระดับการบริหารพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่ง กนอ. มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เมื่อได้ร่วมมือกับหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงในการคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคพลังงาน ด้านการพัฒนาระบบดิจิทัล ด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะ ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่หลากหลายสาขาที่เหมาะสม เพื่อรองรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งภาคการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรมผ่านนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนสามารถขยายผลไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างและก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน และประเทศชาติในอนาคต

           จากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวแถลงเจตนารมณ์ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม โดยนำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2575 ในขณะเดียวกัน ยังผลักดันองค์ความรู้ที่มีอยู่สู่การใช้งานจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยการสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ (ทั้งที่เป็น Hi-Tech Startup และ Hi-Touch Startup) รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน (Social Innovation) เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งสถาบันฯ เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้นโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการ ผ่านการประสานงานความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าให้กับสังคม บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

                 สำหรับความร่วมมือระหว่าง กนอ. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงใน กนอ. ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคพลังงาน ด้านการพัฒนาระบบดิจิทัล และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. ตลอดจนมุ่งหวังให้เกิดนวัตกรรม   เชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจให้สามารถตอบสนองความต้องการ พร้อมทั้งสนับสนุนการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงทุกภาคส่วนของ กนอ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้        มีระยะเวลา 3 ปี

แกลลอรี่