มช. มุ่งนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาหาร สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุพัฒนาสังคม

21 มกราคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มช. บูรณาการองค์ความรู้ ร่วมกับภาครัฐ เอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม นำนวัตกรรมการวิจัยขับเคลื่อนแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมอาหาร สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า มหาวิทยาลัยได้มีการวางแผนดำเนินการในระยะ 4 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ส่วนที่ 1 ต้นทาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบ เป็นศูนย์กลางด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) เริ่มจากการดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย โดยการพัฒนาระบบตั้งแต่วัตถุดิบ การปลูกพืชผลทางการเกษตรที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงโรงอาหาร ร้านค้าผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการปรุงอาหารให้มีมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร ที่ต้องมีการกำกับดูแลให้เป็นมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยในการบริโภคของนักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นจะมีการนำโมเดลชุมชนต้นแบบนี้ผลักดันออกสู่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมกันผลักดันโมเดลชุมชนต้นแบบมาใช้กับถนนนิมมานเหมินท์ เพื่อยกระดับชุมชนโดยนำโมเดลต้นแบบนี้มาใช้ประโยชน์

ส่วนที่ 2 ส่วนกลางน้ำ เป็นการยกระดับสถานประกอบการ OTOP SME ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตอาหารรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมและหัตถกรรมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผลักดันส่งเสริมยกระดับสินค้า OTOP SME มากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยยกระดับสังคมและเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยรวม

ส่วนที่ 3 ปลายทาง เป็นการยกระดับในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการให้บริการทางการแพทย์ โดยยุทธศาสตร์ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ทางภาคเหนือที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่องคือ เรื่องที่ 1 การยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็น Medical Hub หรือเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ส่วนที่ 2 ยกระดับเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis) และส่วนที่ 3 การยกระดับภาพรวมของภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมุ่งเป็นชุมชนต้นแบบ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 1

ในส่วนของ Food Innopolis มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรม โดยการสร้างเมืองอุตสาหกรรมอาหาร ในส่วนขยายที่ออกมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับภาคนิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยและสวนอุตสาหกรรมที่เป็นต้นแบบพัฒนา ยกระดับในภาพรวมของอุตสาหกรรมโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับ Start up ด้านการบริการทางการแพทย์ มุ่งการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ โดยให้ความสำคัญการยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยรวม ในด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะมีการผลักดันให้เกิดการสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะดำเนินการ 3 ส่วน คือ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเตียง และศูนย์พฤฒิพลังผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้และศูนย์ฝึกอบรมการจำลองการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาศึกษาเรียนรู้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งหวังว่าการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากนวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ.
แกลลอรี่