นักวิจัย มช. ได้รับ 6 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562

4 กุมภาพันธ์ 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

      รองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแสดงความยินดีกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้ง 6 ท่าน ที่เข้ารับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ จาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 จัดโดย สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ รางวัลที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับ มีดังนี้

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่

           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2562

รางวัลผลงานวิจัย ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2562 ระดับดีมาก สาขาสังคมวิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “มังกรหลากสี: การขยายอิทธิพลเหนือดินแดนกับพันธกิจ การสร้างอารยธรรมในอุษาคเนย์”

2. รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรา คำรินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงสิบชนิดอย่างรวดเร็ว โดยวิธีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมในหลอดทดลองหนึ่งหลอด”

3. รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาเกษตรและชีววิทยา จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาปริมาณแร่ธาตุในงา กระดูกและฟันเพื่อประโยชน์ในการจำแนก”

4. รองศาสตราจารย์ ดร.ฤตินันท์ สมุทร์ทัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาการศึกษา จากผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบ กลไกการเสริมสร้างวินัย ในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านความรับผิดชอบและการตรงต่อเวลา”

รางวัลวิทยานิพนธ์ ได้แก่

            อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.วันพิทักษ์ ป้องกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากงานวิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและวิลดากลิปตินต่อการบาดเจ็บของหัวใจจากภาวะขาดเลือดแล้วมีเลือดกลับมาหล่อเลี้ยงในหนูที่ตัดอัณฑะร่วมกับมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูง”


ข้อมูล : ศูนย์บริหารงานวิจัย

โครงการจัดตั้งศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ รายงาน


ข้อมูลโดย : ข้อมูล : ศูนย์บริหารงานวิจัย
แกลลอรี่