นวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน Agro-CMU SGDs

21 มกราคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

อุตสาหกรรมกรรมเกษตรเป็นศาสตร์ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทั้งด้านอาหารและไม่ใช่อาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลักเชียงใหม่ มุ่งค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมต้นแบบเพื่อส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยื่น โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เศษเหลือทิ้งทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ฟางข้าว ข้าวโพด ชานอ้อย และ พืชเศษฐกิจชนิดใหม่ๆ เช่น กาแฟ ไผ่ และ กัญชง ซึ่งเป็นแหล่งของเส้นใย และ เซลลูโลสคุณภาพดี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายทางด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้การนำมาใช้ประโยชน์ด้านดังกล่าวมีส่วนช่วยในการลดปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 จากการเผาทิ้ง รวมถึงสามารสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการขายเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร นอกจากนี้ยังสามารถสร้างต้นแบบการใช้ประโยชน์ให้กับพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่มีผลทำให้พืชกลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ

   

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นกลุ่มวิจัยวัสดุร่วมชีวภาพและเทคโนโลยีการบรรจุ (Bio-composite and Packaging Technology cluster) นำโดย ผศ.ดร.สุฐพัศ คำไทย และ คณะ ได้พัฒนางานวิจัยนวัตกรรมเซลลูโลส (cellulose Innovation) จากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อผลิตสารเคมีและวัสดุบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ นาโนเซลลูโลส (nano-cellulose) คาร์บอกซีเมธิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose, CMC) ผงสีคาร์บอกซีเมธิลเซลลูโลส (CMC dye) สารเชื่อมต่อคาร์บอกซีเมธิลเซลลูโลส (CMC crosslink) สารเคลือบผิวกระดาษ (paper coating solution) วุ้นแบคทีเรียเซลลูโลส (bacteria cellulose) ฟิล์มบ่งชี้การสุกของผลไม้ (ripeness indicator film) ฟิล์มดูดซับน้ำสูง (high water absorbent film) ฟิล์มเคลือบผิวผลไม้ลดจุดดำ (anti-black spot film) ฟิล์มซองบรรจุภัณฑ์เครื่องปรุงรส และ บรรจุภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้เชิงชีวภาพ เป็นต้น

  
จุดเด่นของนวัตกรรมเซลลูโลสและวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยที่สำคัญ คือ งานวิจัยสามารถถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ ประหยัดสารเคมีและระยะเวลาในกระบวนผลิตร้อยละ 50 กระบวนการสังเคราะห์และการผลิตสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเศษเหลือทางการเกษตรทุกชนิด ให้ผลผลิตสูง มีขนาดอนุภาคระหว่าง 500 นาโนเมตร ถึง 10 ไมครอน สามารถชะลอการสุกของผลไม้ได้ มีความแข็งแรง เพิ่มสมบัติการทนร้อนและทนความเย็นแบบแช่เยือกแข็ง และที่สำคัญที่สุด คือ ย่อยสลายได้ 100%
    
นวัตกรรมเซลลูโลสและวัสดุบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่กำลังพัฒนา และ คาดว่าจะสำเร็จเร็วนี้ คือ คณะผู้วิจัยได้ให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้ “ปลดล็อกกัญชง” พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศไทย มีเส้นใยยาว มีปริมาณเซลลูโลสสูง มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมากมาย ในเบื้องต้นคณะผู้วิจัยได้สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นใยจากเปลือกกัญชง (hemp bast)และ เส้นใยจากแกนกัญชง (hemp shive) นำมาผลิตเป็น วุ้นจากกัญชง (hemp bacteria cellulose) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารเชิงฟังก์ชัน ฟิล์มจากัญชง (hemp film) เพื่อไปใช้ประโยชน์ในลักษณะดูดซับของเหลวและยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ โฟมกัญชง (hemp foam) เพื่อผลิตวัสดุปลูกหรือโฟมชนิดใหม่แบบย่อยสลายได้ 100% และ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ผสมเส้นใยกัญชง (hemp biodegradable packaging) เป็นต้น 
แกลลอรี่