มช. เสริมชุมชน ด้วยการนำความรู้จากงานวิจัยไปบริการวิชาการ หนุนการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควัน

28 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่ชุมชน ด้วยการนำความรู้ งานวิจัย บริการวิชาการสู่พื้นที่ชุมชน ในการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 50 โครงการ อาทิ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน เป็นต้น รวมถึงมีการให้ความรู้ ระดมความเห็น ร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ให้แก่ ประชาชน บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     รองศาสตราจารย์ ดร. อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าว ถึงการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี พื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม เพราะต้องเผชิญกับหมอกควันที่มาจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า ซึ่งมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ผู้บริหารและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมอกควันมาตั้งแต่เริ่มมีปัญหา เริ่มจากการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดประชุมระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 การร่วมมือกับทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงาน 2 คณะ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน การทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีความพยายามของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้เข้าไปร่วมมือด้านการป้องกัน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และความพยายามในการพัฒนาระบบให้มีการป้องกันล่วงหน้า คือเป็นทั้ง งานต้นน้ำ งานกลางน้ำ งานปลายน้ำ ซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงานจำนวนไม่น้อยกว่า 50 โครงการ

     การแก้ปัญหาต้นน้ำ มีโครงการสำรวจจุดเผา Hot Spot การจัดการไฟป่า รวมทั้ง มาตรการลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด โดยร่วมมือกับเกษตรกรในพื้นที่ทดลองปลูกพืชผสมผสาน พืชทดแทน การสร้างอาชีพเสริม
     การจัดการกลางน้ำ เน้นการวิจัยเพื่อทำให้ทราบผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควัน รวมถึงเรื่องของการจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว มีนักศึกษากับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปทำฝายมีชีวิตหากฝนตกมาจะทำการกักเก็บน้ำได้ และอีกแนวทางหนึ่ง คือ ทำบ่อขนมครก โดยการขุดหลุมและยอมใช้ผ้าพลาสติกปูพื้นเพื่อกักเก็บน้ำช่วงหน้าฝน (เป็นการสร้างบ่อเก็บน้ำไว้ในพื้นที่สูง)
     การจัดการปลายน้ำ เน้นการจัดการสื่อสารกับสาธารณะ เช่น การประชุมเล่าความคืบหน้าผลการดำเนินงาน การเสวนา การประชุมภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย การลงนามสัตยาบันร่วมกันของมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ เป็นต้น ตลอดจน การรวบรวมองค์ความรู้โครงการต่างๆ ที่จะขอทุนมาทำงานต่อเนื่อง และ การผลักดันเชิงนโยบายระดับต่างๆ

แกลลอรี่