ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

31 พฤษภาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สั่งสมมากว่า 55 ปี สู่ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะพลังงานสะอาด พร้อมขยายผลยุทธศาสตร์ด้านอาหาร สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุสู่สังคม รวมทั้งมุ่งเป็นศูนย์กลาง องค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ต่อยอดบูรณาการงานวิจัย งานบริการวิชาการรับใช้สังคม และการสนับสนุนการเรียนการสอน

     ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 ว่า แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผ่านมาจะทำควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังใช้วิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ รับผิดชอบต่อสังคม และสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน โดยในแผนฯ 12 ได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 2) ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ 3) ด้านล้านนาสร้างสรรค์

     ยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อรองรับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 ทั้ง 3 ด้านนี้จะมีมิติของงานวิจัย งานบริการวิชาการต่อสังคมที่นำไปใช้ได้จริงอย่างรวดเร็ว และได้นำไปโยงถึงด้านการเรียนการสอน ในยุทธศาสตร์แต่ละด้านจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

     ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป้าหมายคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนและสังคมในการเป็นองค์กรที่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างของการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เน้นด้านพลังงานอัจฉริยะ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้านการสัญจรที่เป็นอัจฉริยะ และด้านชุมชนอัจฉริยะภายในรั้วของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาทิ การใช้พลังงานทดแทนหมุนเวียน การนำขยะ มาเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อใช้สำหรับระบบขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย การออกแบบก่อสร้างอาคารที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การรณรงค์งดใช้โฟม ไม่ใช้ถุงพลาสติก การเพิ่มทางเดินเท้าและทางจักรยานโดยรอบมหาวิทยาลัย การใช้รถไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ หรือเรียกว่า SCMC เพื่อประมวลข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ลดปัญหาการสูญเสียการใช้พลังงานโดย ไม่จำเป็น

      สิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังจะดำเนินการ คือ การปรับปรุงคุณภาพน้ำที่อยู่ในระหว่างการสร้างสถานีปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยจะทำการรีไซเคิลน้ำทิ้งภายในมหาวิทยาลัยเพื่อนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง และสิ่งที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างทางเดินให้ครอบคลุมเพื่อให้สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ในทุกตึก อีกส่วนหนึ่งคือการจัดพื้นที่ในการจอดรถให้เป็นระเบียบมากขึ้น ในอนาคตจะมีการจัดพื้นที่จอดรถอยู่รอบๆ รั้วมหาวิทยาลัย

      ยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบศูนย์กลางด้านอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety โดยมีคณะที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร กองพัฒนานักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมดูแลร้านอาหารภายในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การปรุงอาหาร และการส่งเสริมการบริโภค รณรงค์ไม่ใช้โฟม รวมถึงไม่ใช้ภาชนะที่สร้างมลพิษ

     ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้จัดพื้นที่เพื่อให้นักศึกษาได้ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ สนับสนุน ส่งเสริมให้นักศึกษามาออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการออกกำลังกาย เช่น สนามกีฬากลาง อ่างแก้ว อ่างตาดชมพู ถนนวงแหวนรอบมหาวิทยาลัยที่ได้ทำภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการใหญ่ที่เราใช้ทดสอบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดใช้พลังงาน เรื่องสุขภาพต่างๆ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้ดำเนินการภายในมหาวิทยาลัยนำไปสู่ชุมชนและสังคมภายนอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราดำเนินการในด้านยุทธศาสตร์เชิงรุกนั้น ไม่ได้ทำแค่ภายในมหาวิทยาลัยแต่ทำเพื่อเป็นตัวอย่างและนำไปสู่ภายนอก เช่น ยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพได้ทำการขยายโครงการ Food Safety ร่วมกับพื้นที่ชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย อาทิ ระบบการดูแลผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การจัดอบรมรวมกลุ่มผู้ทำงานกับผู้สูงอายุ การสร้างโมเดลส่งเสริมผู้สูงอายุ อีกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังดำเนินการภายใต้งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล คือการทำศูนย์สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ หรือในกรณียุทธศาสตร์เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทางจังหวัดเชียงใหม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยเรื่องของ Smart Nimman เพื่อช่วยทำให้พื้นที่นิมมานเหมินท์มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม การเดินทาง เป็นต้น รวมถึงระดับประเทศให้มหาวิทยาลัยได้ขยายผล น้ำความรู้การนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงถ่ายทอดสู่ชุมชนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะในระดับพื้นที่


      ยุทธศาสตร์ด้านล้านนาสร้างสรรค์ มีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านล้านนา รวมถึงนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ มีกลุ่มทำงานกับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการใช้องค์ความรู้ล้านนา ทั้งการท่องเที่ยวเชิงล้านนา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การนำของที่มีอยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นมาพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้ถูกใจนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยการนำองค์ความรู้มาทำให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ Creative Lanna Development Center เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรม มีนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งนักวิชาการทางล้านนา นักวิชาการทางด้านความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาช่วยทำให้งานทางด้านล้านนามีชีวิตชีวา ช่วยชุมชนในการเสริมสร้างคุณค่าของเศรษฐกิจโดยยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมความเป็นล้านนา มีการพัฒนาภูมิปัญญา วัฒนธรรม สิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น และจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวล้านนา

      นี่คือยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ภายใต้แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะที่ 12 พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด และได้บูรณาการทางด้านมิติของงานวิจัย งานบริการวิชาการรับใช้สังคม และการสนับสนุนการเรียนการสอน


     สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาจะได้เรียนรู้กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และลงมือปฏิบัติจริง ในการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้เรียนรู้ในด้านของสิ่งแวดล้อมของการวิจัยและพลังงาน เรื่องการดูแลจัดการเรื่องของสุขภาพผู้สูงอายุ สำหรับภาพรวมที่นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์นั้น สิ่งที่เราทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และเรื่องล้านนาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาและบุคลากรของเราจะได้ซึมซับสิ่งดีๆ เหล่านี้ เพราะหากนักศึกษาได้เข้ามาอยู่ในสังคม สภาพแวดล้อมที่ดี เมื่อสำเร็จการศึกษาไปบุคคลเหล่านี้จะไปเป็นคนขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมภายนอกต่อไป

     ในระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งขึ้นจากความต้องการของประชาชนในจังหวัดภาคเหนือ เพื่อเป็นแหล่งสั่งสมความรู้ทำประโยชน์ต่อสังคม ฉะนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้สร้างองค์ความรู้ และทดสอบในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้จะทำให้เรานำองค์ความรู้ทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้านอาหาร สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ด้านความคิดสร้างสรรค์ด้านล้านนาออกไปขยายผลต่อสังคม เมื่อสังคมได้รับประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือว่าได้ดำเนินการตามปณิธานการก่อตั้งมหาวิทยาลัย คือสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แกลลอรี่