มาทำความรู้จักกับ CMU BCG Platform @ Mae Hia

14 สิงหาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

       BCG Model ถือเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึง บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจนี้จะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

       โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้ง CMU BCG Platform @ Mae Hia ที่มีความพร้อมและโดดเด่นด้านพื้นที่ และโครงสร้างพื้นฐาน มีความหลากหลายของทรัพยากรและรูปแบบการทำงานของคณะ และส่วนงาน มีบุคลากรที่มีความยืดหยุ่นในทำงานสูง และยังมีองค์ความรู้ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับ BCG Model ได้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากนี้ การดำเนินงานของคณะและส่วนงานสามารถสอดรับกับ BCG Model สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

       ผู้ที่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ใน CMU BCG Platform @ Mae Hia สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ทั้ง อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ซึ่งกระบวนการของ CMU BCG Platform คือ การใช้ทรัพยากรที่คณะและส่วนงานใน Mae Hia Campus มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี บริการวิชาการ การเรียนการสอน การลงมือปฏิบัติจริง การสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม การสร้างธุรกิจเริ่มต้น Startup และการทำประโยชน์เพื่อสังคม ชุมชน ร่วมกับทรัพยากรที่มีอยู่

        สำหรับคณะ และบริการภายใต้โครงการประกอบด้วย

  1. คณะเกษตรศาสตร์  โรงเรือนอัจฉริยะ, ฟาร์มโคนม สุกร แพะ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ, ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย, ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ, แปลงพืชผักปลอดภัย
  2. คณะอุตสาหกรรมเกษตร  โรงงานต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร, Bioplastic Pilot plant, Sensory Evolution Laboratory
  3. ศูนย์พัฒนาอาหารและบรรจุภัณฑ์  Future Food Laboratory, โรงงานต้นแบบสกัดแคโรทีนอยด์เข้มข้นจากน้ำมันปาล์มดิบ
  4. ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา  แปลงนาสาธิต, เครื่องมือการปลูกข้าวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
  5. สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์  ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร, อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
  6. อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ?? RF Technology Pilot Plant, Innovative Food Fabrication Pilot Plant, อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) ที่ให้บริการนวัตกรรมครบวงจร ซึ่งเป็นที่อยู่ของ Startup และ SME

       ปัจจุบันโครงการ CMU BCG Platform @ Mae Hia สามารถสร้างประโยชน์หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเกิดเป็นงานวิจัย และพัฒนาที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐาน BCG เกิดธุรกิจนวัตกรรม และธุรกิจ Tech Startup ที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อน BCG เกิดการทำประโยชน์แก่วิสาหกิจชุมชม ภาคสังคม ภาคเกษตรกร ภายใต้เศรษฐกิจ BCG เกิดการสร้างคนที่มีทักษะที่ตอบสนองต่อการเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมในระบบ BCG เรียกได้ว่าครบทุกกระบวนการห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสำหรับ CMU BCG Platform @ Mae Hia

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/cmustep/
แกลลอรี่