เปิดมิติใหม่เพื่อการศึกษา พัฒนาคนทุกช่วงวัย ไปกับโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มช.

27 ธันวาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิต กิจกรรม ธุรกิจ หรืองานของทุกคน การเตรียมความพร้อมทางทักษะ Re skill หรือ Up skill เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้ง "วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ School of Lifelong Education" ขึ้น เพื่อสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ชาติทั้งในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างโอกาสรวมถึงความเสมอภาคทางสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ปัจจุบันสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัว ทักษะหรือสมรรถนะบางอย่างที่เคยได้เรียนหรือได้ใช้มาในสมัยเป็นนักศึกษา อาจไม่ตอบสนองหรือเพียงพออีกต่อไป การศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นช่องทางที่ทำให้คนในสังคมได้มีโอกาสเข้าสู่ความรู้ได้ตลอดช่วงอายุ มุ่งหวังให้นำความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามพันธกิจของโครงการจัดตั้งฯ ในเรื่องบริหารจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนในกลุ่มการศึกษาตลอดชีวิต เป็นหน่วยงานสนับสนุนหน่วยงานภายในเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนการสอนเพื่อผู้เรียน โดยมีการกำหนดกลุ่มผู้เรียนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้


กลุ่มผู้เรียน “ผู้เรียน” โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ผู้เรียนในกลุ่มวัยก่อนเรียน นักเรียนทั้งระบบโรงเรียนปกติหรือสายอาชีวะ สามารถเข้าเรียนร่วมในกระบวนวิชาที่เปิดเพื่อนักศึกษาปริญญาตรีโดยสามารถเข้ามาเรียนร่วมล่วงหน้าได้ภายใต้โครงการ Advanced Program (AP) ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ในระดับสูงได้ เมื่อผ่านการวัดและประเมินผล สามารถเก็บสะสมหน่วยกิต ขอ Transcript และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้เรียนในกลุ่มเรียนปริญญา นักศึกษาปริญญาตรีจากทุกมหาวิทยาลัยสามารถศึกษากระบวนวิชาของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อการเก็บสะสมหน่วยกิตสำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาต่อไปในอนาคตได้ ทั้งนี้เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อของแต่ละหลักสูตรจะสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้

ผู้เรียนในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงวัย เน้นการกลับมาเรียนเพื่อ Re-skill และ Up-skill โดยส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะพิจารณาจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่มีการวัดและประเมินผล เพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรรับรองสมรรถนะ (Competency Certificate) และ/หรือสะสมหน่วยกิต เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะรองรับกับพลวัตรของโลกที่เปลี่ยนไป


สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาตลอดชีวิต ตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประการแรก คือ การได้รับการเรียนรู้ในองค์ความรู้ระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 4 ปีหรือมากกว่านั้น วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตเข้ามาช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระยะสั้นที่มุ่งพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนในแต่ละบุคคล และมีการการันตีว่าทักษะที่ได้เข้ามาศึกษานั้นได้รับการรับรองและเป็นที่น่าเชื่อถือโดยสามารถนำไปใช้ในธุรกรรมของตนเองทั้งทางปฏิบัติและทางลายลักษณ์อักษร

ประการที่สอง ในบางหลักสูตร ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนร่วมกับนักศึกษาปกติได้ โดยจะมีการวัดประเมินผลความรู้ที่ได้เช่นเดียวกับนักศึกษา สามารถสะสมหน่วยกิตไว้ใน Credit Bank เมื่อสามารถผ่านการทดสอบและคัดเลือกเข้าสู่ระบบของแต่ละหลักสูตร ก็สามารถโอนหน่วยกิตหรือออก Transcript ได้อีกด้วย

ประการที่สาม บางหลักสูตรทางวิทยาลัยจัดทำขึ้นเพื่อตอบรับและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้ตรงกับสิ่งที่สังคมและบุคคลส่วนใหญ่ต้องการ โดยเมื่อจบหลักสูตรและผ่านการวัดประเมินผล จะมีการออกใบรับรองสมรรถนะให้ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าตนเองมีความสามารถทางด้านนั้นอย่างแท้จริง

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook page ชื่อ CMU School of Lifelong Education
เบอร์โทรศัพท์ 0-5394-3695–96 หรือที่ e-mail: lifelong@cmu.ac.th 

แกลลอรี่