มช. เปิดตัวข้าวสายพันธุ์ใหม่ ผลสำเร็จเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำช่วยเกษตรกร

15 พฤศจิกายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนา ‘ข้าวสายพันธุ์ใหม่’ ด้วยเทคโนโลยีลำไอออน เพิ่มทางเลือกให้กับชาวนาไทย ถ่ายทอดองค์ความรู้ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตต่ำของข้าว

ปัจจุบันชาวนาไทยยังคงเป็นกลุ่มอาชีพอันดับต้น ๆ ที่มีหนี้สินมากที่สุด สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือชาวนาปลูกข้าวเพื่อการบริโภค (table rice) เป็นหลัก ซึ่งข้าวเพื่อการบริโภคเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ประเทศคู่แข่งเช่นประเทศเวียดนามและอินเดียสามารถผลิตข้าวได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศไทย จึงกดราคาข้าวให้ต่ำลงเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาการรับซื้อข้าวจากชาวนาในประเทศต่ำลงแทบไม่คุ้มต้นทุน ทำให้ชาวนาไทยอยู่ในสภาพที่ยากจนและเป็นหนี้สินมาก

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าวิธีดั้งเดิมมาก ด้วย “เทคโนโลยีกระตุ้นการกลายพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ 1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) 2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (เทพ 10-5 หรือ MSY-4) และ 3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (เทพ 10-7 หรือ OSSY-23)  เพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญระบาด เพราะพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ซึ่งข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค 4.0

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ ได้จัดพิธีแถลงข่าวเรื่อง “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” และการลงนามความร่วมมือวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาการเกษตรด้านข้าว ซึ่งมีกรอบความร่วมมือโดยใช้สายพันธุ์ข้าวพันธุ์กลายที่ได้จากการชักนำในเกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 FRK-1 ข้าวสังข์หยดพัทลุงพันธุ์กลาย MSY-4 ข้าวสังข์หยดพัทลุงพันธุ์กลาย OSSY-23 ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ไปทดลองปลูกที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการช่วยแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานในพิธีฯ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุทิน ชฎาดำ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี และ ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการสภาเกษตรแห่งชาติ ร่วมพิธี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


การลงนามความร่วมมือวิชาการในครั้งนี้ จะสามารถพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร องค์กรเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวพันธุ์กลาย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวพันธุ์กลายและการตลาดแบบครบวงจรได้ต่อไป

แกลลอรี่