นวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อพัฒนาชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวไทย

14 มิถุนายน 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครนายก ศรีสะเกษ และนครสวรรค์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร (เพิ่มเติมครั้งที่ 2) ณ ห้องประชุมอินทนิล สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประเทศชาติ และสากล รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุ่มเทเวลากว่า 20 ปี พัฒนาสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขึ้นเองแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ เพื่อค้นคว้าวิจัยอันตรกิริยาระหว่างไอออนกับสสาร หนึ่งในโครงการค้นคว้าวิจัยดังกล่าวที่ประสบผลสำเร็จ คือ การทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ผ่านการระดมยิงด้วยลำไอออนมวลหนักเป็นครั้งแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2548

ต่อมานักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่เรียกว่า “เทคโนโลยีการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ซึ่งไม่ใช่เทคนิค GMOs แต่เป็นการชักนำให้พืชเกิดการกลายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยลำไอออนที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นแห่งที่สองในโลกต่อจากประเทศจีน จึงสามารถใช้พัฒนาข้าวคุณภาพพันธุ์ใหม่หลากหลายชนิดได้ในเวลาที่สั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก ส่งผลให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ข้าวลำไอออน” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสู่การเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในปัจจุบันเทคโนโลยีดังที่กล่าวสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้การสนับสนุนชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวไทย ได้ถึง 10 กลุ่ม ได้แก่ 1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค 2) ข้าวเจ้าเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง 3) ข้าวเหนียวหอม 4) ข้าวเจ้าสีสำหรับการบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพและเวชสำอาง 5) ข้าวไขมันสูง 6) ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ 7) ข้าวเบต้าแคโรทีนสูง 8) ข้าวเหนียวที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง 9) ข้าวเจ้าพื้นแข็งที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง และ 10) ข้าวญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง
ข้าวคุณภาพพันธุ์ใหม่บางพันธุ์ ได้แก่ 1) ข้าวเจ้าหอม มช 10-1 เพื่อการบริโภค 2) ข้าวเจ้า ศฟ 10-5 เพื่ออุตสาหกรรมแป้ง และ 3) ข้าวเจ้า ศฟ 10-7 เพื่ออาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ ที่ให้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่ ได้นำไปทดลองปลูกที่ จ.ราชบุรี ภายใต้โครงการ “มช.-ราชบุรีโมเดล” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท/ไร่ ใช้การตลาดนำการผลิต มีตลาดรองรับแน่นอน ดูแลชาวนาสมาชิกแบบครบวงจร และควบคุมคุณภาพข้าวตลอดการผลิต ดูแลโดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต ผ่านความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ. 2561 พบว่าข้าวลำไอออนให้ผลผลิตในพื้นที่ จ.ราชบุรี มากกว่า 1 ตันต่อไร่

ต่อมาเมื่อขยายไปทดลองปลูกใน 15 จังหวัด ผ่านสภาเกษตรกรจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้จัดทำความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1) จ.อุตรดิตถ์ 2) จ.แพร่ 3) จ.สุโขทัย 4) จ.กำแพงเพชร 5) จ.พิษณุโลก 6) จ.พิจิตร 7) จ.พระนครศรีอยุธยา 8) จ.สระบุรี 9) จ.ลพบุรี 10) จ.ปราจีนบุรี 11) จ.สิงห์บุรี 12) จ.อ่างทอง 13) จ.ชัยนาท 14) จ.ปทุมธานี และ 15) จ.กาญจนบุรี พบว่าในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2563 ได้ปลูกข้าวเจ้า ศฟ 10-7 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุโขทัย พื้นที่รวมประมาณ 660 ไร่ พบว่า ข้าวให้ผลผลิตดี โดยให้ผลผลิตสูงสุดที่ 1,180 กิโลกรัมต่อไร่ ที่อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ สูงกว่าพันธุ์ทั่วไปที่นิยมปลูกในฤดูนาปรังแม้จะประสบภาวะแล้งและอากาศร้อนจัด

นอกจากนี้ ในฤดูนาปี พ.ศ. 2563 ได้ปลูกข้าวเจ้าหอม มช 10-1 ในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย และ จ.แพร่ พื้นที่รวมประมาณ 1,600 ไร่ พบว่า ข้าวให้ผลผลิตดี โดยให้ผลผลิตสูงสุดที่ 1,150 กิโลกรัมต่อไร่ ที่อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มากกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เพราะแตกกอดีกว่า และมีกลิ่นหอมมากกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว และได้ปลูก เจ้า ศฟ 10-7 ในพื้นที่จ.ราชบุรี จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.แพร่ จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.อ่างทอง พื้นที่รวมประมาณ 2,500 ไร่ พบว่า ข้าวให้ผลผลิตดี โดยให้ผลผลิตสูงสุดที่ 1,447 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ให้ผลผลิตดีและแตกกอดีกว่าพันธุ์พื้นแข็งทั่วไป ไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว โดยรวมข้าวลำไอออนให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ทั่วไปที่นิยมปลูก แม้ประสบภาวะแล้งระยะกล้าและภาวะฝนตกหนักก่อนการเก็บเกี่ยว

และในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2564 ได้ปลูกข้าวเจ้า ศฟ 10-5 และข้าวเจ้า ศฟ 10-7 ในพื้นที่จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย และจ.สิงห์บุรี พื้นที่รวมประมาณ 1,400 ไร่ พบว่า ข้าวให้ผลผลิตดี สูงกว่าพันธุ์ทั่วไป โดยข้าวเจ้า ศฟ 10-5 ให้ผลผลิตสูงสุดที่ 1,322 กิโลกรัมต่อไร่ ที่อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก แม้พบการระบาดของแมลงบั่ว
จากความสำเร็จที่ผ่านมา ข้าวลำไอออนจึงได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรหลายจังหวัด และเป็นที่มาของพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรอีก 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.อุทัยธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครนายก จ.นครสวรรค์ และ จ.เพรชบูรณ์ เพื่อการนำข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ ได้แก่
1. ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.43 ตัน/ไร่
2. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.54 ตัน/ไร่
3. ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิต 1.7 ตัน/ไร่

การนำข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ดังกล่าวไปขยายผลในพื้นที่ จะสร้างแรงจูงใจและสร้างความหวังให้ชาวนาเชื่อมั่นในอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย แต่ยังเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการประกอบอาชีพชาวนาอีกด้วย

   
รูปที่ 1 การขยายผลและติดตามข้าวลำไอออน 3 พันธุ์ ได้แก่ 1) ข้าวเจ้าหอม มช 10-1 เพื่อการบริโภค 2) ข้าวเจ้า ศฟ 10-5 เพื่ออุตสาหกรรมแป้ง และ 3) ข้าวเจ้า ศฟ 10-7 เพื่ออาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ ณ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และ ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย

 
รูปที่ 2 การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และข้าวพาร์บอยล์ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกร ณ ตำบลหนองบัว อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
แกลลอรี่