มช. มุ่งเป็นต้นแบบด้านอาหารปลอดภัย นำนวัตกรรมการวิจัยขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ

15 กุมภาพันธ์ 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          มช. มุ่งเป็นต้นแบบด้านอาหารปลอดภัย หวังขยายผลสู่ภาคประชาสังคม ยกระดับสถานประกอบการ OTOP และ SME ตามนโยบายรัฐเพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร นำนวัตกรรม การวิจัยขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุ ยกระดับเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดในรายการเล่าสู่กันฟังกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ของมหาวิทยาลัยชียงใหม่ ไว้ว่า

“อาหาร” หนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       การที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้านล้านนาสร้างสรรค์ และด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ โดยด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับด้านอาหารสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ จากยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่ได้กำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของทางภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเกี่ยวกับด้านการเกษตร 1) เรื่องอาหารเป็นหลัก 2) เมืองเชียงใหม่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับศูนย์การดูแลด้านสุขภาพของอาเซียน 3) ในภาคเหนือมีบริบทการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ

มช. กับการให้ความสำคัญด้านอาหาร

       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ส่งเสริมพื้นที่การปลูกพืชผลที่เกี่ยวข้องกับผักผลไม้มาเป็นระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบันยังพบปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ฉะนั้นที่มาของยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับด้านอาหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามที่จะผลักดันให้เราเป็นต้นแบบ เป็นศูนย์กลางด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) เพื่อจะเป็นตัวอย่างสำหรับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สามารถนำไปขยายผลได้ เนื่องจากชุมชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประชากรประมาณ 5 หมื่นคน เหมาะสำหรับเป็นต้นแบบการเรียนรู้ขององค์การบริหารส่วนตำบลในภาคเหนือตอนบน จึงเป็นที่มาของการสร้างต้นแบบการจัดการเรื่องอาหารปลอดภัย

       ในส่วนของ CMU Food Safety เป็นโมเดลต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับ 3 ด้าน คือ การจัดการวัตถุดิบ การปรุงอาหาร และการส่งเสริมการบริโภค มหาวิทยาลัยพยายามผลักดันในเรื่องของการจัดการวัตถุดิบที่รับรองได้ว่าปลอดจากสารพิษ โดยให้คณะเกษตรศาสตร์เข้ามาดำเนินการเรื่องการปลูกและการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรที่มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมในเรื่องเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรี เป็นการเชื่อมโยงงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำร่วมกับภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทำให้มีปริมาณฟาร์มหรือจำนวนพื้นที่ปลูกที่สามารถรับรองได้ว่า ผลผลิตทั้งผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์จะปลอดสารเคมี ร้านประกอบการอาหารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้อย่างปลอดภัย

        ส่วนที่ 2 คือ การยกระดับร้านอาหารที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นร้านอาหารต้นแบบ ที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหารแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ร้านอาหารที่อยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วไป สามารถเข้ามาเรียนรู้และถอดรูปแบบ นำไปบริหารจัดการที่จะยกระดับร้านอาหารที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ให้ขยายผลออกไปเร็วขึ้น

        ส่วนสุดท้ายคือ การส่งเสริมการบริโภค การบริโภคอาหารในแต่ละวันส่งผลต่อสุขภาพเราอย่างไร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถคำนวณแคลอรี่ที่เราได้รับ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน คำนวณออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังได้จัดทำฐานข้อมูลปริมาณของสารอาหารแต่ละเมนูของร้านจำหน่ายอาหารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละวันที่บริโภคได้ ซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ร่วมกันของคณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร

เป้าหมายการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ด้านอาหาร

       เรื่องการบริโภคในชีวิตประจำวัน เราพยายามสร้างศูนย์อาหารปลอดภัยให้เป็นต้นแบบของการขยายผลสู่ภาคประชาสังคม ส่วนที่ 2 การยกระดับสถานประกอบการ OTOP และ SME ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตอาหาร รวมถึงยกระดับการผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้จะเกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่จะยกระดับเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis ฉะนั้นสิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ขาดในระดับ OTOP และ SME คือ การลงทุนก่อนจะเข้าสู่ภาคการผลิตจริงที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขาดโรงงานที่เป็นตัวทดลองการผลิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามผลักดันโครงการนี้ผ่านการทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือกับศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการตั้งโรงงานต้นแบบ จำนวน 4 หลัง เพื่อทำหน้าที่ในลักษณะของ OEM เพื่อให้ภาค OTOP และ SME ที่ยังไม่มีความสามารถในการผลิตเข้ามาใช้ประโยชน์จากสายการผลิตในโรงงาน 4 แห่งนี้เพื่อผลิตสินค้าจริง เป็นการผลิตเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองตลาด เมื่อมีโอกาสความเป็นไปได้ทางการตลาดจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนในด้านการขยายผลไปสู่การสร้างโรงงานเพื่อการผลิตต่อไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีผู้เชี่ยวชาญหลายที่จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการตลาด เทคนิคการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ด้วย

“สุขภาพ” ยกระดับเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์


       ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมี 4 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรก การยกระดับการให้บริการของศูนย์การแพทย์เดิมที่มีอยู่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณให้คณะแพทยศาสตร์ เพื่อดำเนินการโครงการยกระดับการให้บริการใน 3 ส่วนด้วยกันคือ 1) ยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 2) ยกระดับการให้บริการของศูนย์ศรีพัฒน์ 3) ยกระดับการให้บริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้ง 3 ส่วนนี้ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ฉะนั้นประชาชนที่เข้ามารับบริการใน 3 หน่วยงานนี้จะได้รับการบริการที่ทันสมัยขึ้น และเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับการบริการทางการแพทย์ที่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

       ส่วนที่ 2 การขยายโอกาสในการรักษาพยาบาล เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งโรงพยาบาลที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน ขนาด 300 เตียง เป็นการขยายโอกาสในการดูแลรักษาผู้ป่วย ลดภาระของผู้ป่วยในเดินทางมารักษาตัวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสามารถเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” ได้

       ส่วนที่ 3 ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์ทางการแพทย์ของอาเซียน หรือที่เรียกว่า Medical Hub & Wellness Center มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ในการจัดตั้งศูนย์ Medical Hub จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ในอีก 3 ปีคาดว่าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์จะเกิดขึ้น ศูนย์นี้จะยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งจะเชื่อมโยงเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย

       ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ การยกระดับให้เป็นศูนย์เตือนภัยด้านการบริโภค และการเตือนภัยการใช้ชีวิตในสภาวะที่มีสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าในภาคเหนือตอนบนช่วงฤดูร้อนของทุกปีจะมีปัญหาเรื่องหมอกควัน ส่งผลให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจที่มาจากฝุ่นละออง การที่เราจะป้องกันในเรื่องของต้นทาง เช่น ป้องกันไม่ให้มีการเผาต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วบางครั้งเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงมาพิจารณากันว่า จะทำอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการเตือนภัย และตระหนักว่าสภาวะอากาศในแต่ละวันเป็นอย่างไร ควรปฏิบัติตนอย่างไร ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สร้างแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัว ศูนย์เตือนภัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหาร และสภาพอากาศ ซึ่งเป็นอีก 1 โครงการที่อยู่ภายใต้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ

การดูแล การพยาบาลผู้สูงอายุ


        ภาคเหนือมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พิจารณาในการแยกประเด็นยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุออกมาจากด้านการดูแลด้านสุขภาพ มีการผลักดันให้เกิดการสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้สูงอายุ โดยดำเนินการ 3 ส่วน คือ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเตียง และศูนย์พฤฒิพลังผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้และศูนย์ฝึกอบรมการจำลองการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มาศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของการปฏิบัติตัว การดูแลตัวเอง รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลผู้สูงอายุก็จะเข้ามารับการฝึกอบรมที่นี่ ซึ่งศูนย์นี้จะรวบรวมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ เราคาดหวังให้เป็นศูนย์ที่จะทำหน้าที่ให้ถ่ายทอดและเป็นต้นแบบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ และขยายผลเข้าไปสู่พื้นที่ของตัวเอง ทั้ง 3 เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการ

เป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านอาหาร สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ

        เป้าหมายของความสำเร็จที่เราหวังผลไว้คือ อยากให้ชุมชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้นแบบ เราจะสร้างรูปแบบ หรือโมเดลที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 เรื่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อให้เข้ามาเรียนรู้ และสามารถที่จะหยิบไปขยายผลในระดับที่ตัวเองต้องการได้เพื่อที่จะเอาโมเดลตัวนี้ไปขยายผลและใช้ได้เร็วที่สุด