ผลงานวิจัยจาก CERT Center คณะแพทย์ฯ มช. คว้า 2 รางวัลระดับนานาชาติ FAOPS2019

11 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

      ผลงานวิจัยจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center)  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้า 2 รางวัลระดับนานาชาติ  ในงานประชุม “The 9th Federation of the Asian and Oceanian Physiological Societies Congress (FAOPS2019)” ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2562

       ดร. ศิริพงษ์ ปาลี นักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัล Young Scientist Travel Award ในงานประชุม “The 9th Federation of the Asian and Oceanian Physiological Societies Congress (FAOPS2019)” จากงานวิจัยเรื่อง “Mitochondrial fission inhibitor attenuates brain mitochondrial dysfunction in pre-diabetic rats” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึง ผลของการยับยั้งการเกิดกระบวนการไมโตคอนเดรียฟิชชั่นต่อความสามารถในการเรียนรู้ จดจำ และการทำงานของสมอง โดยพบว่าการยับยั้งกระบวนการไมโตคอนเดรียฟิชชั่นสามารถลดการสูญเสียความสามารถในการการเรียนรู้ จดจำของหนูที่มีภาวะอ้วนจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงเป็นระยะเวลานาน ผ่านทางการลดความเสียหายของไมโตคอนเดรียในสมองได้ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกในผู้ป่วยภาวะอ้วนร่วมกับการสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ จดจำ และเป็นความรู้ใหม่ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาภาวะสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ จดจำได้ในอนาคต

       ในขณะที่ นาย ชโยดม มณีโชติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาสรีรวิทยา จาก ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (CERT Center) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัล Young Scientist Travel Award ในงานประชุม “The 9th Federation of the Asian and Oceanian Physiological Societies Congress (FAOPS2019)” นอกจากนี้ผลงานวิจัยนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของผลงานวิจัยยอดเยี่ยม เพื่อรับรางวัล Masao Ito Memorial Award จากงานวิจัยเรื่อง “Mitochondrial Fusion Promoter Attenuates Left Ventricular Dysfunction in Pre-Diabetic Rats” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึง ผลของตัวกระตุ้นการฟิวชันของไมโตคอนเดรียต่อการทำงานของหัวใจ เพื่อช่วยลดความผิดปกติและการสูญเสียการทำงานของหัวใจที่เกิดขึ้นในหนูที่มีภาวะอ้วนที่จากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูงเป็นระยะเวลานาน ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกในผู้ป่วยภาวะอ้วนได้ในอนาคต

       ผลงานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้ มี ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ. นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ และ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านไฟฟ้าในสมอง ศูนย์ CERT เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย ซึ่งงานประชุมดังกล่าวจัดขึ้น เมื่อวันที่ 28 – 31 มีนาคม 2562 ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

แกลลอรี่