มช.นำองค์ความรู้พัฒนาต่อยอด มุ่งสู่ศูนย์กลางล้านนาสร้างสรรค์

25 ธันวาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านล้านนาและการสร้างนวัตกรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างจิตวิญญาณประจำท้องถิ่น เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมมุ่งสู่ระดับสากล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านล้านนาสร้างสรรค์ ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ รับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน ตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมและเป็นผู้นำขององค์ความรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและการสร้างนวัตกรรมเพื่อดำรงจิตวิญญาณประจำถิ่น รวมถึงการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านล้านนาไปใช้ประโยชน์ต่อยอดสร้างนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ มีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านล้านนา รวมถึงนำองค์ความรู้ไปเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล


“ล้านนาสร้างสรรค์” หรือ Creative Lanna เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีบุคลากรรวมถึงองค์ความรู้ในรูปผลงานวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาศึกษา เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ มีมาตราฐาน สามารถสืบค้นได้ สามารถถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ล้านนาคดีทั้ง 8 ด้าน ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กับสถาบันการศึกษาและประชาชน ผู้สนใจสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป


มหาวิทยาลัยกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ด้านล้านนาสร้างสรรค์ไว้ 4 กลยุทธ์หลัก หรือเรียกอีกอย่างว่า 4 แจ่งล้านนา ประกอบด้วย ภูมิปัญญาล้านนา คลังความรู้ล้านนา ล้านนาสร้างสรรค์ และภูมิทัศน์ล้านนา
1) ภูมิปัญญาล้านนา เป็นศูนย์กลางการรวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาและล้านนาสร้างสรรค์จากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงผลงานวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาศึกษาทั้ง 8 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ภาษา วรรณกรรมและวรรณศิลป์ ด้านที่ 2 โบราณคดีและประวัติศาสตร์ล้านนา ด้านที่ 3 ปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ด้านที่ 4 ศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรี และนาฏยกรรม ด้านที่ 5 สถาปัตยกรรม ด้านที่ 6 การกิน การอยู่ เครื่องนุ่งห่ม ด้านที่ 7 การแพทย์ล้านนา และด้านที่ 8 มานุษยวิทยา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ตลอดจนหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่สนใจ


2) คลังความรู้ล้านนา มีกาจัดทำสารบบด้านล้านนาความหลากหลายทางวัฒนธรรม นำองค์ความรู้ด้านล้านนาเผยแพร่สู่สาธารณะ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาล้านนา โดยได้มีการจัดทำเว็บไซต์ creativelanna.cmu.ac.th เพื่อเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงของแหล่งข้อมูล ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการศึกษาตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning รองรับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน รวมถึงการเรียนรู้จากทุกสถานที่โดยใช้ Media Online เช่น CMU MOOC เป็นต้น


3) ล้านนาสร้างสรรค์ นำภูมิปัญญาล้านนามาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีธุรกิจเกิดใหม่และผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ต่อยอดจากความรู้ด้านล้านนาให้มีความร่วมสมัย ทั้งด้านการออกแบบ การผลิต การตลาด และสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ล้านนาให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น เครื่องปั้นดินเผา งานผ้า เครื่องจักสาน เป็นต้น


4) ภูมิทัศน์ล้านนา มีการสร้างและส่งเสริมสภาพแวดล้อมบรรยากาศให้มีความเป็นล้านนาสร้างสรรค์ โดยนำ อัตลักษณ์ล้านนาเข้ามาออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ถนน ป้าย รวมทั้งกายภาพต่างๆ ทางสถาปัตยกรรม
นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ Creative Lanna Design Center ขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรม เป็นที่บ่มเพาะ อบรมและสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่สานต่อมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมต่อยอดให้มีความร่วมสมัยในทุก ๆ มิติ ทั้งด้านการออกแบบสินค้า การผลิต การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ล้านนาได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย


ยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ มีกลุ่มทำงานกับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการใช้องค์ความรู้ล้านนา ทั้งการท่องเที่ยวเชิงล้านนา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การนำของที่มีอยู่ในพื้นที่ท้องถิ่นมาพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้ถูกใจนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยการนำองค์ความรู้มาทำให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้มีการขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งนักวิชาการทางล้านนา นักวิชาการทางด้านความคิดสร้างสรรค์ เข้ามาช่วยทำให้งานทางด้านล้านนามีชีวิตชีวา ช่วยชุมชนในการเสริมสร้างคุณค่าของเศรษฐกิจโดยยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมความเป็นล้านนา มีการพัฒนาภูมิปัญญา วัฒนธรรม สิ่งที่มีอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น และจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวล้านนา


ล่าสุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการศิลปะชุมชน ณ วัดศรีนวรัฐ(ทุ่งเสี้ยว) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการศิลปกรรมชุมชน Chiangmai Street Arts โดย ผลงานส่วนหนึ่งบนผนังศาลาวัด เป็นผลงานของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน” ภายในชุมชนมีกาดก้อมกองเตียว ซึ่งเป็นตลาดพื้นบ้าน จำหน่ายสินค้าภูมิปัญญา เพื่อเป็นการอนุรักษ์เอกลักษณ์ วิถีชีวิตพื้นบ้าน และสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการที่สร้างโอกาสให้กับคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและคนในชุมชน ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม อันดีงามของท้องถิ่น นอกจากสีสันของชุมชนในลักษณะแปรคุณค่าทุนทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูงานศิลปวัฒนธรรมพร้อมทั้งพัฒนาไปกับยุคสมัยได้ด้วย


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หวังว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาล้านนาจะสามารถนำไปสู่ความร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน รวมถึงช่วยสานต่อความเป็นล้านนาสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

แกลลอรี่