วิศวฯ นำองค์ความรู้สร้างห้องหลบฝุ่นชุมชน วิธีการใหม่ในการสู้ภัยฝุ่นควัน สู้ภัยด้วยความรู้และเข้าใจ

28 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     จังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงผลักดันให้เกิด “ห้องหลบฝุ่นชุมชน” กระจายทั่วทั้งจังหวัด โดยมอบเครื่องกรองอากาศให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 51 แห่ง เพื่อเป็นสถานที่หลบภัยฝุ่นควัน รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้และการให้ข้อมูลข่าวสารถึงอันตรายฝุ่นควันกับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย พร้อมนี้ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนสร้างเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัดด้วยตนเอง

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณสูงในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2562 ) ค่าฝุ่น PM2.5 ทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศในพื้นที่อยู่ในระดับสีแดงซึ่งหมายถึงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควันในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับหลบภัยฝุ่นควันได้

     สำหรับพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งอยู่ที่อาคาร SME ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะทำงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาให้คำแนะนำในการปรับปรุงพื้นที่ตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้มีการปรับพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งสามารถจุคนได้หนึ่งพันคน ผลจากการปรับปรุงพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน ทำให้พื้นที่สามารถเปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยสามารถบริหารจัดการคุณภาพอากาศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควันมีประโยชน์และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้จริง

     จากการดำเนินการพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควันให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานจึงผลักดันให้เกิด “ห้องหลบฝุ่นชุมชน” กระจายทั่วทั้งจังหวัดคือให้ชุมชนจัดเตรียมสถานที่เพื่อที่จะทำให้เป็นห้องหลบฝุ่น ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมอบเครื่องกรองอากาศให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 51 แห่ง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเป็นห้องหลบฝุ่นชุมชนได้ทันที นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน หน่วยงานอาสาต่างๆ ที่เข้าพื้นที่ในการสร้างห้องหลบฝุ่นให้กับชุมชนพร้อมๆ กัน เช่น ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ยั้งเมิน อำเภอสะเมิง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือที่ศูนย์พักพิงคนชรา บ้านธรรมปกรณ์ โดยกลุ่มประชาชนอาสา Clean Air For All เป็นต้น

     หลักการในการสร้างห้องหลบฝุ่น มีง่ายๆ โดยใช้หลัก 3 ข้อ คือ 1) กั้นฝุ่นข้างนอกไม่ให้เข้า ด้วยการลดการเปิดประตูหน้าต่างของห้อง อาจจะใช้เทปปิดตามขอบตามรอยรั่วได้ 2) กรองอากาศในห้อง โดยจะใช้เครื่องกรองกรองอากาศในห้องหรือจะใช้แผ่นกรองติดตามเครื่องปรับอากาศแอร์คอนดิชันก็ได้ และ 3) ดันอากาศออกข้างนอก โดยใช้เครื่องกรองอากาศแบบหยาบกรองอากาศให้ดีแล้วอัดเข้าในห้อง เพื่อทำให้ห้องมีความดันอากาศสูงกว่าภายนอกเหมือนเป็นลูกโป่งที่พยายามดันอากาศสะอาดออกข้างนอก กันอากาศสกปรกไม่ให้เข้ามา ซึ่งแนวทางในการสร้างเครื่องกรองอากาศราคาถูกและการสร้างเครื่องกรองหยาบเพื่ออัดอากาศเข้าห้อง คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ให้ข้อมูลและแนวทางในการจัดสร้างทางเว็ปไซต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์

     ห้องหลบฝุ่นชุมชน นอกจากจะเป็นสถานที่ให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามาหลบฝุ่นแล้ว จะเป็นศูนย์การเรียนรู้และการให้ข้อมูลข่าวสารถึงอันตรายฝุ่นควันกับประชาชนในพื้นที่ได้ด้วย ฝุ่นควันจะลดน้อยและหายไปถ้าประชาชนเข้าใจอันตรายต่อสุขภาพของควันไฟที่เกิดขึ้นจากการเผา เพราะเมื่อตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากฝุ่นควัน พฤติกรรมการเผาจะน้อยลง และเราจะสามารถสู้ชนะกับภัยฝุ่นควันในที่สุด และนี่คือบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถาบันการศึกษาแห่งแรกในส่วนภูมิภาคแห่งนี้

แกลลอรี่