มช. เผยความคืบหน้าโมเดลชุมชนต้นแบบสังคมแห่งสุขภาพ 3 ด้าน อาหาร สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ

10 มิถุนายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าการเป็นชุมชนต้นแบบศูนย์กลางด้านความปลอดภัย (Food Safety) สร้างนวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ พร้อมผลักดันออกสู่ชุมชนโดยรอบ 


      จากการเปิดเผยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อความก้าวหน้าในการดำเนินงานยุทธศาสตร์เชิงรุกที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 หากมองถึงประโยชน์ที่แท้จริง จะเป็นการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังระดมสรรพกำลังทางด้านวิชาการ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่เรามีอยู่ เป็นลักษณะโมเดลชุมชนต้นแบบที่เกิดภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาให้เป็นศูนย์ของการเรียนรู้ต่อไป ที่จะถ่ายทอดให้ในส่วนของกลุ่ม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)กลุ่มเทศบาล รวมไปถึงกลุ่มผู้สนใจด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหาร การบริการสุขภาพผู้สูงอายุ เข้ามาเรียนลัดและเรียนรู้ในโมเดลที่สร้างขึ้น หลังจากนั้นโมเดลเหล่านั้นก็จะถูกกระจายออกไป ตามชุมชนต่างๆ ทำให้ลักษณะการให้บริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีสัมฤทธิ์ผลที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ตรงกับจุดประสงค์หลักที่เราต้องการผลักดันในลักษณะโครงการเช่นนี้ ซึ่งหากมีการบริโภคอาหารที่ดี สุขภาพก็จะดี หากมีอายุมากขึ้นก็จะแข็งแรงขึ้น และหากจำเป็นต้องเข้ารับการบริการด้านสุขภาพก็จะได้การบริการที่ดี


     ด้านอาหาร เราพยายามที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่กับความเชี่ยวชาญของด้านวิชาการในการสร้างองค์ความรู้ให้เป็นชุมชนต้นแบบ ทักษะการเรียนรู้ให้หน่วยงานหรือกลุ่มชุมชนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทราบถึงจำนวนประชากรที่มาใช้บริการด้านอาหารและสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 70,000 คนต่อวัน เพราะฉะนั้นลักษณะชุมชนขนาดนี้จะสอดคล้องกับ องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลในระดับกลาง ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ในลักษณะชุมชนต้นแบบ หลังจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำเป็นตัวอย่างเสร็จ จะเกิดการถ่ายทอดเข้าสู่ชุมชนในลักษณะของการเรียนรู้ เข้ามาเรียนรู้การบริหารจัดการในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร กับเรื่องสุขภาพ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยดำเนินการปรับปรุงลักษณะโครงสร้างด้านกายภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการให้บริการทางด้านอาหารภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างศูนย์บริการทางด้านอาหารสำหรับนักศึกษาและบุคลากร ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี อยู่ในบริเวณที่ใกล้ๆ กับวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี บริเวณหัวเนินที่จะลงไปสำนักหอสมุด มีการดูแลคุณภาพของการบริการ ตามโครงการ Food Safety ที่ทำเป็นลักษณะชุมชนต้นแบบ ในเรื่องการจัดการร้านอาหารที่ให้บริการนักศึกษา เน้นใน 2 เรื่อง คือ ส่วนที่ 1 การคัดเลือกวัตถุดิบ มีการเชิญชวนให้ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมโครงการนี้ จะมีการควบคุมในเรื่องของวัตถุดิบ ที่นำมาให้บริการปรุงอาหารให้นักศึกษา เวลาที่ผู้ประกอบการมีการซื้อวัตถุดิบเข้ามา จะได้รับสิทธิในการตรวจวัดสารตกค้างทางด้านจุลินทรีย์ และสารตกค้างทางด้านเคมี รวมถึงการตรวจในเชิงกายภาพที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ ส่วนที่ 2 ในเรื่องของการปรุงหรือคุณลักษณะ สุขอนามัยของร้านอาหาร มีโครงการที่ดำเนินการภายใต้โครงการ Food Safety ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา โดยให้การอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรุงอาหารสุกที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติอาหาร ได้ออกมาควบคุม นอกเหนือจากเรื่องของโรงงานที่ใช้ผลิตอาหาร ปัจจุบันควบคุมมาถึงสถานที่ปรุงอาหารสำเร็จ คือ ร้านอาหารต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเตรียมการบังคับใช้ในเรื่องพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอาหารมา 5 ปีแล้ว แต่กฎหมายพึ่งมาบังคับใช้ในปี 2561 จึงมีร้านอาหารที่ได้ใบรับรองจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ประมาณ 100 กว่าแห่ง ทั้งในมหาวิทยาลัยและเทศบาลใกล้เคียง เป็นการยืนยันได้ว่าวัตถุดิบที่เข้ามาปรุง การปรุงอาหาร และคุณลักษณะของร้านอาหาร ก็จะผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายบังคับใช้ กับส่วนที่ 3 ก็คือ การพัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการบริโภคของอาหาร ดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว เป็นเรื่องของการทำฐานข้อมูลเก็บรวบรวมเมนูในส่วนของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านอาหาร A มีเมนูอยู่ 10 แบบ 10 จาน ในแต่ละจานจะถูกวิเคราะห์องค์ประกอบอาหารที่เกี่ยวข้องในจานอาหาร ในลักษณะของฉลากการบริโภคอาหาร จะรู้ว่าเมื่อทานอาหารจานนี้ จะได้รับพลังงานเท่าไร มีไขมันอยู่เท่าไร โคเลสเตอรอลเท่าไร มีองค์ประกอบของสารอาหารหลักอยู่เท่าไร มีเกลือเยอะหรือไม่ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจบริโภคของนักศึกษาและบุคลากรที่จะเลือกรับประทานอาหารแต่ละจาน การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นในลักษณะของชุมชนต้นแบบที่จะการันตีให้ผู้บริโภค เรื่องของวัตถุดิบที่นำมาปรุง เรื่องสถานที่ในการผลิตและจำหน่ายอาหาร และแอปพลิเคชั่นในการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับตัวเอง ก็สามารถส่งเสริมให้ส่วนชุมชนต่างๆ ได้มาเรียนรู้และนำไปปรับปรุงใช้ได้ และมหาวิทยาลัยยังได้พยายามผลักดันในส่วนของร้านอาหารรถเข็นที่อยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการร่วมมือกับทางจังหวัดทางเทศบาล ที่จะขยายผลไปสู่เมนูเกือบ 100 กว่าร้าน เป็นโมเดลที่จะเริ่มต้นในปีนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการ Food Safety ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความคืบหน้าและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นผลได้เป็นที่ประจักษ์พอสมควร ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการที่เคยทำโครงการในลักษณะการสุ่มตรวจสารตกค้าง สารเคมีในเลือดนักศึกษาและบุคลากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการบริโภคอาหาร ซึ่งพบว่ามีสารตกค้างที่ติดมากับวัตถุดิบตกค้างในกระแสเลือดของกลุ่มเป้าหมายพอสมควร จึงมีการจัดทำโครงการนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการก่อโรคในระยะยาวสำหรับบุคลากรและนักศึกษา ผลการดำเนินงานใน 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า เมื่อลองเก็บตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายอีกรอบ ค่าของสารตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือ ลดลง แสดงให้เห็นว่าโครงการสามารถช่วยประกันคุณภาพการบริการของร้านอาหาร เมนูอาหาร ที่การันตีให้กับนักศึกษาและบุคลากรได้ ทั้งนี้หลังจากที่ศูนย์บริการอาหารแห่งใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว สถานที่บริการอาหารตรง อมช. เดิม จะปรับเป็นศูนย์กลางกิจกรรมนักศึกษาอย่างเต็มตัว และจะมีสถานที่แห่งใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ศูนย์บริการนักศึกษาและบุคลากร จะอยู่บริเวณใกล้ๆ กับสโมสรข้าราชการเดิม ใกล้กับคลินิกไผ่ล้อม อีกหนึ่งแห่ง ซึ่งตอบรับกับยุทธศาสตร์ ส่วนการบริการอาหารกับการบริการในส่วนของสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรโดยตรง คือ เมื่อมีการเจ็บป่วยพื้นฐาน ก็ไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการนักศึกษาและบุคลากร แห่งใหม่ได้ ในส่วนนี้จะมีบริการตรวจเบื้องต้น จนถึงการวินิจฉัยเบื้องต้น การรักษาเบื้องต้น ไปจนถึงการจ่ายยาเบื้องต้น ครบสมบูรณ์แบบโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่


       ด้านสุขภาพ จะมีความเชื่อมโยงในส่วนของการให้บริการด้านสุขภาพปกติ กับส่วนของการให้บริการในด้านผู้สูงอายุ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการอนุมัติงบประมาณเกือบ 1,400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงการให้บริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และศูนย์ศรีพัฒน์ เป็นการยกระดับการให้บริการที่ครบวงจร และตอบสนองการรอรับบริการของประชาชน นักศึกษาและบุคลากรได้เร็วขึ้น เป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้างด้านกายภาพของโรงพยาบาล การสร้างอาคารใหม่ของศูนย์ศรีพัฒน์ การปรับปรุงในเรื่องระบบการให้บริการ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ทั้งในมิติของห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดใหม่ รวมถึงอาคารตรวจใหม่ต่างๆ เช่น ปัจจุบันให้บริการตรวจได้ประมาณ 100 - 120 เคสต่อชั่วโมง ก็สามารถลดระยะเวลาในการรอได้ จากเดิมต้องรอประมาณ 3 ชั่วโมง จะเหลือ 30 - 45 นาที ลักษณะแบบนี้จะเป็นในเรื่องของการปรับปรุงลักษณะการให้บริการใน 2 ส่วนด้วยกัน รวมไปถึงที่กล่าวไว้ในข้างต้น หากเจ็บไข้ได้ป่วยเบื้องต้น นักศึกษา บุคลากร รวมไปถึงบุคลากรที่เกษียณอายุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ก็ไม่จำเป็นที่ต้องไปเข้าคิวรอรับการตรวจที่โรงพยาบาลมหาราช ก็มาเข้ารับการบริการที่อาคารบริการบุคลากรและนักศึกษาที่สร้างขึ้นใหม่ได้เลย 

      ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การเตรียมตัวที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ 2. การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และ 3. การบริหารจัดการผู้ป่วยติดเตียง กรณีการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างศูนย์การให้บริการผู้สูงอายุ หรือศูนย์พฤฒิพลังผู้สูงอายุ อยู่บริเวณใกล้กับโรงแรมรติล้านนา จะเป็นศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ทั้งในมิติของการบริโภค การออกกำลัง และมิติกรณีที่เจ็บไข้ได้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งจะรวมถึงการนำเอาองค์ความรู้ โมเดลต่างๆ ทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวมเข้าไปอยู่ด้วย เพื่อให้บริการอบรมผู้สูงอายุ หลังจากที่เจ็บป่วย ปัจจุบันจะมีศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่แยกออกไปต่างหาก อยู่บริเวณใกล้ห้างโลตัสหางดง ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 4 - 5 ปี จะเป็นศูนย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับโรคของผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องมาเข้ารับบริการปะปนกับผู้ป่วยทั่วไปในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ลดความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ลดปัญหาเรื่องการจราจรแออัดและมีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ผู้สูงอายุโดยตรงให้บริการ และกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือช่วยตัวเองได้บางส่วน ต้องการผู้ดูแลเป็นกรณีพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการใช้ที่ดินที่ได้รับบริจาคบริเวณด้านหลังวัดท่าใหม่อิ (ถนนเลียบน้ำปิง) อำเภอหางดง ในการก่อสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยติดเตียง ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เหลือการจัดการตกแต่งภายใน และจัดซื้อครุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีการจัดการใน 2 ลักษณะ คือส่วนแรกให้บริการดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียง และส่วนที่สอง คือ เป็นโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ ที่เช้ามาลูกหลานจะนำมาส่ง จะมีการดูแล มีกิจกรรมให้ทำระหว่างวัน และมีการรักษาสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองได้บางส่วน และตอนเย็นลูกหลานก็มารับกลับบ้าน ซึ่งศูนย์จะเปิดให้บริการสมบูรณ์แบบในปลายปีนี้

       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุปว่า การดำเนินการในยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านนวัตกรรมอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ จะสอดคล้องไปกับการดำเนินการในอีก 2 ยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัย ด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และล้านนาสร้างสรรค์ โดยเราสร้างโมเดลที่เริ่มมาจากภายในมหาวิทยาลัยก่อน เพื่อเป็นโมเดลชุมชนต้นแบบ ทั้งเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัย ยกระดับเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์การทางการแพทย์ ขยายโอกาสด้านการรักษาพยาบาล การยกระดับให้เป็นศูนย์เตือนภัยการบริโภค การใช้ชีวิตในสภาวะที่มีสภาพอากาศไม่เหมาะสม รวมไปถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ รับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่ยั่งยืน



แกลลอรี่