มช. เปิดมิติใหม่ของการศึกษาเพื่อคนรุ่นใหม่ CMU-SMILE

8 มีนาคม 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์


         

     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดมิติใหม่ทางการศึกษา CMU - SMILE พัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อการศึกษาตลอดชีวิต เพิ่มรูปแบบการเรียนรู้หลากหลายช่องทาง ตั้งเป้าเริ่มระบบธนาคารหน่วยกิต ปี 2562 คือ การเรียนโดยไม่มุ่งเน้นการให้ปริญญา แต่สามารถสะสมใน Credit Bank ของมหาวิทยาลัย และเทียบโอนเพื่อปริญญาได้ในอนาคต

          ปัจจุบันสถานการณ์หรือโลกมีการเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนมีความต้องการเปลี่ยนไป การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง มีหลายรูปแบบ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา สามารถที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น

           รองศาสตราจารย์ อุษณีย์ คำประกอบ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับมิติใหม่ของการศึกษาเพื่อคนรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU – SMILE ไว้ในจดหมายข่าวสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไว้ว่า
เมื่อคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นายกสภามหาวิทยาลัยได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสว่า “การศึกษาของประชาชนแต่ละคน จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของประเทศชาติในวันข้างหน้า” โดยมีข้อสังเกตที่พระองค์ทรงใช้คำว่า “ประชาชน” ซึ่งปัจจุบันมีการผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในลักษณะดังกล่าวไปทั่วโลก เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore : NUS) ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งของประเทศไทยเริ่มดำเนินการโครงการลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนระบบการศึกษาที่สำคัญ

      ที่ผ่านมา การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะคำนึงถึงแต่ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น จึงจะสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดใหม่ที่ทุกคนสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยว่าจะสามารถนำเสนอหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนหรือไม่ อย่างไร

     มหาวิทยาลัยโดยรองศาสตราจารย์อุษณีย์ คำประกอบ รองอธิการบดี จึงได้นำเสนอโครงการ “มิติใหม่ของการศึกษาเพื่อคนรุ่นใหม่ (CMU-SMILE)” ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายของการจัดการศึกษาและขยายกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย (กลุ่มวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และนักศึกษาเก่า) โดยมีรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานสรุปได้ดังนี้




     รูปแบบการจัดการโครงการ CMU-SMILE จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ (1) วิทยาลัยพหุวิทยาการ-สหวิทยาการ (School of Multi/Inter-disciplinarity : SMI) ซึ่งจะส่งเสริมและบริหารจัดการหลักสูตรพหุวิทยาการ สหวิทยาการที่บูรณาการความรู้ ความเชี่ยวชาญศาสตร์จากหลายคณะ/วิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาไปสู่หลักสูตร tailor-made ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ และ (2) การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education : LE) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่มุ่งเน้นการให้ปริญญา แต่สามารถสะสมเป็นหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเทียบโอนเพื่อปริญญาในอนาคตได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับสังคมโดยรวมของประเทศ


     โดยมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในส่วนของการศึกษาตลอดชีวิต (LE) ในปี 2562 สำหรับการดำเนินการในส่วนของวิทยาลัยพหุวิทยาการ-สหวิทยาการ (SMI) เพื่อบริหารจัดการหลักสูตรพหุวิทยาการ สหวิทยาการที่บูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญศาสตร์จากหลายคณะ/วิทยาลัย จะเริ่มดำเนินการในปี 2564 และมีแผนจะสร้างหลักสูตร tailor-made ให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจในปี 2566 



     สำหรับรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิต (LE) ที่มหาวิทยาลัยจะเริ่มดำเนินการใน 2562 นี้ จะมี 2 รูปแบบ คือ (1) เรียนกระบวนวิชาในหลักสูตรของคณะต่าง ๆ ที่มีการเปิดสอนอยู่แล้ว ทั้งการเรียนแบบล่วงหน้า (นักเรียนมัธยมเรียนกระบวนวิชา ป.ตรี ล่วงหน้า หรือ นักศึกษา ป.ตรี เรียนกระบวนวิชา ป.โท ล่วงหน้า) และการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต และ (2) เรียนแบบหน่วยการเรียน (Module)/หลักสูตรระยะสั้นตามความต้องการ ทั้งการเรียนแบบขอรับประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อ re-skill, up-skill ให้ทันกับพลวัตที่เปลี่ยนไป และการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต โดยหากจะสะสมเป็นหน่วยกิตจะต้องผ่านการประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับการศึกษาในระบบหลักสูตรปกติ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนจะมีทั้งแบบเรียนในห้องเรียนและเรียนแบบออนไลน์ ทั้งนี้ หากผู้เรียนที่สะสมหน่วยกิตไว้ในธนาคารหน่วยกิต ประสงค์จะเข้าสู่หลักสูตรใด ต้องผ่านการคัดเลือกตามระบบการรับเข้าของหลักสูตรนั้น ๆ และโอนหน่วยกิตที่สามารถโอนได้มาสู่หลักสูตรที่ต้องการเพื่อปริญญาในอนาคต





     ซึ่งผู้เรียนที่เข้ามาเรียนในรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิต (LE) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะสามารถสะสมหน่วยกิตของตนผ่านระบบ CMU-Credit Bank และสามารถเลือกรับการรับรองได้ 2 รูปแบบ คือ (1) non-degree credits ที่เป็นใบประกาศนียบัตรรับรองสมรรถนะ หรือ (2) degree credits เพื่อรับปริญญาบัตร ขึ้นกับความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ

     สำหรับการดำเนินการในส่วนของวิทยาลัยพหุวิทยาการ-สหวิทยาการ (SMI) ที่มีแผนการดำเนินงานในปี 2564 และปี 2566 จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ซึ่งจากการนำเสนอโครงการดังกล่าว ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้ให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะอย่างหลากหลาย โดยนายกสภามหาวิทยาลัยได้กล่าวสรุป ดังนี้
     1. ให้ดำเนินการเรื่องของวิทยาลัยพหุวิทยาการ-สหวิทยาการ (School of Multi/Inter-disciplinarity : SMI) และการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education : LE) ไปพร้อมกัน
     2. ควรจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบดำเนินการบริหารจัดการ และแยกออกจากสำนักทะเบียนและประมวลผลที่เป็นโครงสร้างเดิม
     3. ศึกษาความต้องการของผู้มาใช้บริการ แล้วนำมาวิเคราะห์และปรับปรุงในเรื่องของเกณฑ์การรับสมัคร และให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายและคู่ความร่วมมือ
     4. หาวิธีการที่จะทำให้คณาจารย์และภาควิชาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงคุณค่าและร่วมมือกันในการดำเนินการจัดการศึกษาลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารส่วนงานในมหาวิทยาลัย .




ข้อมูลโดย : จดหมายข่าวสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์ 2562 หน้า5-7
แกลลอรี่