แพทย์ มช. แนะรู้จักเส้นเลือดสมองแตก ก่อนพรากชีวิตใครหลายคนโดยไม่ทันตั้งตัว

6 สิงหาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ภาวะของโรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสียการทำงานอย่างเฉียบพลัน จากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงสมอง เป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้ตัวจนเกิดภาวะหมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ผศ.นพ.กิตติ เทียนขาว อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งจะพบได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย และโรคหลอดเลือดสมองแตก พบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับอาการ และบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหา


อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมอง มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในกลุ่มประชากรของโลก 1 ใน 4 คน จะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประชากรไทยพบว่าในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนประมาณ 60,000 คน ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพทั้งเพศชายและเพศหญิง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 300,000 คน หรือทุก 2 นาที จะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 1 ราย ดังนั้นโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วงมาก


สาเหตุของโรคหลอดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยคือปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้มีอายุน้อย เพศชายมีแนวโน้มในการที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าเพศหญิง และเชื้อชาติ โดยในแต่ละเชื้อชาติที่ต่างกัน จะมีสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่แตกต่างกันออกไปได้
ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตนเอง ไม่ให้เกิดโรคตามที่กล่าวก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองได้
และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อายุมากขึ้น เมื่อตรวจพบมีความดันโลหิตสูงเล็กน้อย มีน้ำตาลในเลือดเริ่มไม่ปกติจากการตรวจสุขภาพ อาจจะต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยต่างๆ แล้วสามารถควบคุมได้ดีตามเกณฑ์เป้าหมาย โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็จะน้อยลง
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่พบโดยปกติคือ พูดลำบาก สังเกตว่าจะมีอาการพูดไม่ปกติ พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ ไม่เข้าใจภาษา ทั้งหมดเหล่านี้ หากมีอาการขึ้นมาทันที นั่นคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดสมอง ปากตก อาการปากเบี้ยว มุมปากไม่เท่ากัน เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ให้สังเกตว่ายิ้มแล้ว หน้าเท่ากันหรือไม่ มีลักษณะเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่งหรือเปล่า ยกแขนขาไม่ขึ้น มักเป็น อาการที่พบได้บ่อย รวมไปถึงอาการอ่อนแรงครึ่งซีก


หากมีอาการใดอาการหนึ่ง ให้สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือโทรศัพท์ 1669 ทันที แพทย์จะทำการประเมินตรวจร่างกาย ดูสัญญาณชีพ ตรวจผลเลือด และตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันเปิด ทำให้เลือดสามารถกลับไปช่วยเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น


การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรตรวจสุขภาพประจำปี ลดภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน อ้วนลงพุง เลิกสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้จะต้องปรับอาหารที่รับประทานให้เหมาะสม เน้นรับประทานผัก เนื้อสัตว์ที่เป็นไขมันดีจำพวกปลา รับประทานธัญพืช นมไขมันต่ำ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุให้เน้นออกกำลังกายในระดับปานกลาง (ในระดับที่สามารถพูดคุยกับคนรอบข้างได้) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละ 30-40 นาที หากมีโรคร่วมอาจจะต้อง ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น”


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่