รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เชื่อมสะพานบุญ "ความดีที่ไม่สิ้นสุด คือการอุทิศอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญ" “ผู้ให้อาจไม่จดจำ แต่ผู้รับมิเคยลืมเลือน”

1 เมษายน 2565

คณะแพทยศาสตร์

คนไทยมีความเชื่อที่ผิด คิดว่าถ้าบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะเกิดมาไม่ครบ 32 ประการ จะเกิดมาพิกลพิการ แต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นข้อเท็จจริงที่ว่ามีการผ่าตัดเอาเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไป หรือเอาไส้ติ่งออกไป แต่เราก็ยังไม่เห็นมีผู้ป่วยคัดค้านไม่ให้ตัด เพราะกลัวว่าชาติหน้าจะไม่มีเต้านม หรือไม่มีไส้ติ่ง ดังนั้นการบริจาคอวัยวะจึงถือว่าเป็นอุปบารมีทาน คือ สละร่างกาย (อวัยวะ) แก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ดังเช่นเรื่องราวในวันนี้

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ว่าที่ ร.ต.ศุภลักษณ์ โนพี อายุ 32 ปี ได้ทำงานเกี่ยวกับงานการดูแลระบบไฟฟ้า ถูกไฟฟ้าช๊อต โดยถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลลำปาง มายังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยการรักษาเบื้องต้น ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น เข้าสู่ภาวะโคม่า

ทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ทำการตรวจประเมินพบว่า ผู้ป่วยไม่มีการตอบสนอง และมีภาวะสมองตาย ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่า ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงแล้ว ผู้เป็นพ่อและแม่ รวมถึงภรรยา จึงได้ตัดสินใจที่จะบริจาคอวัยวะ เพื่อทำบุญให้กับผู้ป่วย

แม้การสูญเสียลูกชายของผู้เป็นพ่อ และแม่ คือ นายปรีดี โนพี และนางประนอม โนพี ด้วยอายุเพียง 32 ปี จากสาเหตุสมองตายอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว จะเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับ แต่ผู้เป็นแม่และพ่อ ก็อยากให้ ว่าที่ ร.ต.ศุภลักษณ์ โนพี ได้มีโอกาสสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต จึงได้ตัดสินใจที่จะบริจาคอวัยวะทุกส่วนที่ยังใช้ได้ ให้กับโรงพยาบาลเพื่อไปจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่รอคอยชีวิตใหม่ รอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจากผู้ใจบุญเพื่อต่อชีวิตออกไป

ทีมแพทย์ได้ตรวจประเมินพบว่าแม้สมองจะเสียหายอย่างรุนแรง แต่อวัยวะต่างๆยังคงทำงานได้ การสูญเสีย 1 ชีวิต ในวันนี้ จึงได้ต่อชีวิตใหม่อีกถึง 5 ชีวิต เมื่อสามารถบริจาคได้ทั้ง ไตทั้ง 2 ข้าง หลอดเลือด และดวงตา ด้วยบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ได้ต่อชีวิตผู้อื่นถึง 5 ชีวิตในครั้งนี้ ขอให้ดวงวิญญาณของ ร.ต.ศุภลักษณ์ โนพี ไปสู่สุคติและสัมปรายภพที่ดี (เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565)

ด้าน อ.นพ.ศิวัฒม์ ภู่ริยะพันธ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ในประเทศไทยการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะ มาจาก 2 กรณีเท่านั้นคือ จากผู้บริจาคสมองตาย ทางกฏหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้วและจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ตามข้อบังคับแพทยสภา (ญาติโดยสายโลหิต และสามีภรรยา)

อวัยวะและเนื้อเยื่อที่สามารถปลูกถ่ายได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทย แพทย์สามารถนำอวัยวะ และเนื้อเยื่อที่ได้รับจากการบริจาคเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย ให้มีชีวิตใหม่กลับมาอีกครั้ง โดยสามารถนำไปใช้ได้หลายอวัยวะด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของอวัยวะ ได้แก่ ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับอ่อน ตับ และส่วนเนื้อเยื้อได้แก่ ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระจกตา

หลายท่านอาจจะมีความหวังว่าญาติที่นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง เนื่องจาก ผู้ป่วยมีการหายใจ ชีพจรยังเต้นอยู่ แม้หัวใจยังเต้นอยู่ แต่แท้ที่จริงผู้ป่วยอาศัยการหายใจจากเครื่องช่วยหายใจและยากระตุ้นหัวใจ ทุกครั้งในการบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย แพทย์จะมีการทดสอบว่าอยู่ในภาวะสมองตายจริงหรือไม่โดย แพทย์จะวินิจฉัยภาวะสมองตายว่าต้องมีการพิสูจน์เป็นหลักฐาน หากมีภาวะสมองตาย หัวใจที่เต้นอยู่ในอีกประมาณ 48-72 ชั่วโมง หัวใจจะหยุดเต้นเอง เพราะก้านสมองส่วนที่ควบคุมการเต้นของหัวใจหยุดทำงาน

การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยสมองตาย ต้องกระทำตามข้อบังคับของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์ 3 ท่านที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายอวัยวะ มีการตรวจสอบกันอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมองตายแล้ว จะต้องมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อกำกับ ถึงจะได้รับการผ่าตัดนำอวัยวะออกโดยทีมผ่าตัด”

ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ที่รอการบริจาคอวัยวะ อยู่จำนวน 5,800 กว่าราย ในขณะที่ทุกวันนี้มีการปลูกถ่ายอวัยวะปีหนึ่งเพียงแค่ 600-700 ราย เพราะฉะนั้นยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นหัวใจวาย ตับวาย ไตวายที่ยังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ ยังไม่รวมถึงผู้ป่วยที่มีความพิการเกี่ยวกับกระจกตา ดังนั้นการบริจาคอวัยวะเป็นการให้ที่ไม่สิ้นสุด เป็นที่สุดแห่งการให้ และสามารถจะช่วยชีวิต ต่อชีวิต สร้างชีวิตใหม่ ให้กับผู้ป่วยอีกหลายคนที่ยังรอการปลูกถ่ายอวัยวะ

ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องในภารกิจสะพานบุญครั้งนี้
- ทีมห้องผ่าตัดและวิสัญญี รพ.มหาราช
- หอผู้ป่วยวิกฤติอายุรกรรม รพ.มหาราชฯ
- นพ.เขตต์วสันต์ อรุณพงษ์ แพทย์ประจำบ้าน อายุรศาสตร์
- นพ.ภัทรพงศ์ สัจจริตานันท์ แพทย์ประจำบ้าน อายุรศาสตร์
- พญ.กนกวรรณ อร่ามรุณ แพทย์ประจำบ้าน อายุรศาสตร์
- พว.กันยา อุดมสิน และ พว.เสาวนีย์ อิ่มอ่อง พยาบาลประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ
และทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดนำอวัยวะออก
- อ.นพ. ศิวัฒม์ ภู่ริยะพันธ์
- อ.นพ. ปูรณ์ อภิชาติปิยกุล
- นพ.ธนบดี พงษ์ธัญญะวิริยา
- นพ.พฤกษ์ วงศ์มณีโรจน์

***ภาพและบทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากญาติของผู้เสียชีวิตแล้ว

ขั้นตอนการบริจาคอวัยวะ

1. กรอกรายระเอียดในแบบฟอร์ม บริจาคอวัยวะ จุดประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
2. แอปพลิเคชั่น ชื่อ บริจาคอวัยวะ สามารถกรอกรายละเอียดได้

แสดงความจำนงเพื่อบริจาคอวัยวะได้ที่

1. กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม บริจาคอวัยวะ ณ ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชั้น 8 อาคารสุจิณโณ
2. ศูนย์ดวงตา ภาค 10 ชั้น 12 อาคารสุจิณโณ
3. กรอกออนไลน์ ที่ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย

ติดต่อสอบถาม : 089-9996000, 0918513391 แสดงความจำนงเพื่อบริจาคอวัยวะได้ที่ ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชั้น 8 อาคารสุจิณโณ

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
แกลลอรี่