ยาแก้อักเสบไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ

13 สิงหาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ในปัจจุบันมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อ ทำให้เกิดการใช้ยาผิดประเภท ไม่เหมาะสมกับการรักษาอาการเจ็บป่วย เพราะหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ยาแก้อักเสบคือกลุ่มยาชนิดเดียวกันกับยาฆ่าเชื้อ หรือที่เรียกว่ายาปฏิชีวนะ ในความเป็นจริงแล้วยาแก้อักเสบและยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์แตกต่างกัน การรับประทานยาที่ผิดไม่เพียงแต่ไม่ช่วยรักษาโรคและอาการแล้ว ยังส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา รักษาโรคไม่หาย อีกทั้งยังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้


อาการอักเสบ
เป็นอาการตอบสนองของร่างกายเพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพหรือเป็นอันตราย ซึ่งการอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การอักเสบของกล้ามเนื้อจากการยกของหนัก คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แสงแดด หรือสารเคมี ซึ่งการอักเสบมักมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ร่วมด้วย


ยาแก้อักเสบคืออะไร
ยาแก้อักเสบคือยาที่ใช้บรรเทาและลดอาการอักเสบ ซึ่งยาแก้อักเสบไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการปวด เช่น ปวดข้อเข่าจากโรคข้อเสื่อม ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้ออักเสบจากการเล่นกีฬา ช่วยลดไข้ หากทานยาพาราเซตามอลแล้วอาการไม่ดีขึ้น ช่วยลดอาการบวมแดงบริเวณที่เกิดจากการอักเสบ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพร็อกเซ็น (Naproxen) โดยยาแก้อักเสบใช้สำหรับบรรเทาอาการ หากหายแล้วสามารถหยุดยาได้ทันที ซึ่งยาแก้อักเสบจะต่างกับ ‘ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ’


ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะคืออะไร
ยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้สำหรับรักษาอาการติดเชื้อเท่านั้น ยาฆ่าเชื้อไม่มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ ยกเว้นว่าสาเหตุของการอักเสบนั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อได้ ยกตัวอย่างเช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ ในการรับประทานยาต้องทานให้ครบตามกำหนดแม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ไม่ควรหยุดยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะหากทานไม่ครบจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งการดื้อยาเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พัฒนาการต้านทานต่อยาฆ่าเชื้อ ทำให้รักษาโรคยากขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin), เพนิซิลลิน (penicillin), อิริโทรมัยซิน (erythromycin) เป็นต้น


ผลข้างเคียง
เมื่อใช้ยาเกินขนาดหรือเกินความจำเป็น จะส่งผลต่อร่างกาย และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยา การทานยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องในระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อการทำงานของตับและไต
การใช้ยาผิดประเภท โดยใช้ยาแก้อักเสบแทนยาฆ่าเชื้อ หรือใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่เหมาะสมกับชนิดของเชื้อ อาจทำให้โรคไม่หายหรือรุนแรงขึ้น และการใช้ยาผิดประเภท รับประทานยาฆ่าเชื้อไม่ครบทำให้เกิดโอกาสในการดื้อยามากยิ่งขึ้น


การรับประทานยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
อย่างไรก็ตามยาแก้อักเสบควรรับประทานอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายจะไวต่อผลข้างเคียงได้ง่ายกว่าวัยอื่น ดังนั้นหากมีอาการเจ็บป่วยควรพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย รับการรักษาให้เหมาะสม อีกทั้งควรรับประทานยาให้ถูกต้องตามคำสั่งของแพทย์ ใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและหากได้รับยาฆ่าเชื้อไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดโอกาสในการดื้อยาและที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาฆ่าเชื้อมารับประทานเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ภญ.บุษกร ศิริวรกุล เภสัชกรประจำงานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เรียบเรียง: เรียบเรียง: นางสาว มนัสนันท์ ยุทธ์ไชยพร นักศึกษาปี 4 คณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการสื่อสารเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่