กระดูกพรุน…โรคที่ผู้สูงวัยควรระวัง

2 กันยายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

โรคกระดูกพรุนคืออะไร
คือภาวะที่มวลกระดูกลดลง นอกจากมวลกระดูกจะลดลงแล้วยังมีโครงสร้างร่างแหของกระดูกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีการเชื่อมกันค่อนข้างแข็งแรง โรคกระดูกพรุนนี้พบได้เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยโรคกระดูกพรุนจะทำให้โครงร่างความแข็งแรงลดลง กระดูกจะเปราะบางมากขึ้น และมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่าย


อาการอะไรที่สงสัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
สัญญาณเตือนว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ มักจะไม่มี ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคกระดูกพรุน จึงมักจะไม่มีอาการมาก่อน จึงไม่ทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรมาเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
1.กลุ่มผู้สูงอายุ
2.วัยรุ่นและวัยทำงานที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ หรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ที่จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าคนทั่วไป
เมื่อไหร่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
ถ้าหากว่าผู้ป่วยเกิดภาวะกระดูกหักจากการหกล้มหรือจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง แสดงว่ากระดูกของท่านเริ่มเปราะบาง จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคกระดูกพรุน แต่ในบางครั้งที่ยังไม่แสดงอาการ ไม่มีประวัติว่ากระดูกหักมาก่อน กลุ่มนี้สามารถมารับการตรวจได้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของเกลือแร่กระดูก หรือการตรวจ Bone Mineral Density (BMD) ถึงจะทราบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่


กระดูกพรุนอันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร
หากเป็นโรคกระดูกพรุนและมีการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดหลังเรื้อรัง กระดูกสันหลังมีรูปร่างผิดปกติ หลังค่อม เสียสมดุล
ในการเดิน เป็นต้น ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ไม่สามารถกลับไปใช้
ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม ส่งผลต่อสภาพจิตใจและเกิดภาวะซึมเศร้าได้ กระดูกหักในบางตำแหน่ง เช่น ข้อสะโพกอาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้


ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกพรุนแล้วควรรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการ
สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายและเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี
2. เสริมแคลเซียมหากได้รับจากอาหารหลักไม่เพียงพอ โดยรับประทานแคลเซียมเสริมและวิตามินดี
เสริมเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียม รวมทั้งรักษาระดับแคลเซียมในกระแสเลือดให้พอดี เพื่อให้มวลกระดูกอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยควรได้รับการติดตามผลเลือดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง
3. การรักษาด้วยยาต้านโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมียารักษาโรคกระดูกพรุน 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มยาที่ลดอัตราการสลายของกระดูก และกลุ่มยาที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก


กระดูกพรุนออกกำลังกายได้ไหม
การออกกำลังกายในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกระดูกมี
ความเปราะบางมากกว่าคนปกติ ดังนั้นควรเน้นการออกกำลังกาย 3 ด้าน ดังนี้
1. ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
2. ออกกำลังกายด้วยการลงน้ำหนัก ใช้น้ำหนักร่างกายกระตุ้นการสร้างมวลกระดูก
3. ออกกำลังกายด้วยวิธียืดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพของการทรงตัว

มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุนไหม
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นของ
เกลือแร่กระดูกร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับแคลเซียม วิตามินดี และค่าการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่ผู้ป่วยมีระดับแคลเซียมและวิตามินดีต่ำ ควรรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีเสริม ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากดูแลตัวเองดีและออกกำลังกายอย่างถูกต้องเหมาะสม ก็จะชะลอการลดลงของมวลกระดูก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ อีกทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสมยังช่วยป้องกันการหกล้มซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.นิชนันท์ กิจรานันทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่