โรคกระดูกคอเสื่อม

6 กันยายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

โรคกระดูกคอเสื่อม
สาเหตุของกระดูกคอเสื่อมเนื่องมาจากพันธุกรรม อายุ การใช้งาน โดยปัจจัยเหล่านี้จะมีผลที่ทำให้กระดูกคอเสื่อมช้าหรือเร็วได้
ความสำคัญของอาการปวดคอ
กระดูกคอเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลัง มีบริบทหน้าที่เป็นโครงสร้างในการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังปกป้องไขสันหลัง เส้นประสาท กระดูกสันหลังเริ่มตั้งแต่กระโหลกไปจนถึงบริเวณก้นกบ


ปวดคอคืออะไร
รู้สึกไม่สบายบริเวณต้นคอ มีอาการปวดตื้อที่ศีรษะ หรือท้ายทอย อาจเป็นร่วมกับการปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน สะบัก มีอาการชาที่แขน หรือที่บริเวณนิ้วมือ และอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย คอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บร่วมด้วย บางครั้งอาจจะพบจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อต้นคอ และบ่า
อาการหลักของกระดูกคอเสื่อม
– ผู้ป่วยมีอาการปวด
– มีอาการทางเส้นประสาท ปวดร้าวลงแขน มือชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางรายมีอาการเดินเซ เนื่องจากมีการกดทับไขสันหลัง ซึ่งไขสันหลังมีหน้าที่ควบคุมอวัยวะทั้งร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีข้อติด ขยับคอได้ลดลง บางคนมาด้วยคอเคียงหรือหลังค่อมยืดคอไม่ได้
บางรายมีอาการปวดศีรษะ


อาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์
– ผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอ ผู้ป่วยจะมีเพียงแต่อาการปวดต้นคอโดยที่ไม่พบลักษณะความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น และหายภายในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน สาเหตุมักจะเป็นจากกล้ามเนื้อต้นคออักเสบ หรือมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกต้นคอ ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกระดูกต้นคอเสื่อม
– ผู้ป่วยมีอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับของรากประสาทระดับคอ
ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอร้าวลงแขน อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนจากการกดทับของรากประสาทระดับคอ
-ผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการของการกดทับไขสันหลังระดับคอ
ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอร่วมกับมีอาการอ่อนแรงแขนและขา เดินไม่สะดวก ทรงตัวลำบาก มือใช้งานได้ไม่เต็มที่ บางรายมีอาการของระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ


อาการปวดคอแบบไหนอันตราย
1. มีอาการปวดคอเป็นมานานกว่า 2 สัปดาห์
2. อาการปวดคอภายหลังได้รับอุบัติเหตุ
3. มีอาการอ่อนแรงของแขนและขา หรือมีอาการชา หรือปวดร้าวไปที่แขนร่วมด้วย
4. มีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบอื่น ๆ ของร่างกายร่วมด้วย
5. มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาการเจ็บอกร่วมด้วย
6. ไม่สามารถเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่าง ๆ ได้เป็นปกติ


สาเหตุของอาการปวดคอ
• สาเหตุความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด บางรายมีความผิดปกติโครงสร้างมาตั้งแต่กำเนิด
• อุบัติเหตุ
• เนื้องอกและมะเร็ง ภาวะติดเชื้อ บางรายมีภาวะเป็นเนื้องอก หรือมะเร็ง
• ภาวะการเสื่อมของกระดูกและหมอนรอง (พบบ่อยที่สุด)
• ภาวะอักเสบ (ใช้งานบ่อย)


สาเหตุที่พบบ่อย
• การทำงาน
• กิจกรรมที่ทำซ้ำๆ มากเกินไป
• การนอนที่ผิดปกติ
• ภาวะเสื่อม อักเสบ กดทับเส้นประสาท


ออฟฟิตซินโดรมคืออะไร
ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คืออาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไปโดยไม่ขยับ ผ่อนคลาย หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง


อาการของออฟฟิศซินโดรม
1. ปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย มีลักษณะอาการปวดล้าๆ
2. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งพบร่วมได้ เช่น ซ่า วูบ เย็น เหน็บ ซีด ขนลุก เหงื่อออก ตามบริเวณที่ปวดร้าว ถ้าเป็นคืออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่า
3. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีอาการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป


การป้องกัน
เพื่อลดปัญหาออฟฟิศซินโดรม การปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานที่จำเป็น
เตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องใช้งานหนัก, การยืดกล้ามเนื้อก่อน ระหว่าง และหลังจากการทำงานในแต่ละวัน


การรักษา โรคหมอนรองกระดูกเสื่อมทับเส้นประสาท
*การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เช่น พักผ่อน ออกกำลังกายทำให้ข้อต่อยืดหยุ่นดี ทานยา ฉีดยา กายภาพบำบัด ปรับชีวิตประจำวัน แพทย์ทางเลือก (นวด, ฝังเข็ม, จัดกระดูก) อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เช่น ที่พยุงเอว คอ ควรใช้ให้ถูกวิธีร่วมกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อด้วย
*การรักษาโดยการผ่าตัด โดยมีข้อบ่งชี้ และเหตุผลในการผ่าตัด
• รักษาแบบประคับประคองมามากกว่า 3 เดือน
• ปวดมาก ทนไม่ไหว ทรมาน
• กล้ามเนื้ออ่อนแรง
• ต้องการสิ่งส่งตรวจ ไม่แนใจว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบปัสสาวะ หรือระบบขับถ่ายผิดปกติ มีเนื้องอก หรือมะเร็งหรือไม่


หลักการพิจารณาผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลัง
-แก้ไขภาวะกดทับระบบเส้นประสาท
-แก้ไขความมั่นคงของกระดูกสันหลัง
-แก้ไขภาวะผิดรูปของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังคด


แนวทางการป้องกัน
-ให้เข้าใจในเรื่องของอายุ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ร่างกายต้องมีความเสื่อม
– เข้าใจเรื่องของกรรมพันธุ์
– ปรับอารมณ์และจิตใจ
– การรับประทานอาหารที่เหมาะสมไม่ผอมเกินไปหรืออ้วนเกินไป
– การทำงาน
– การออกกำลังกาย


ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.สุทธิภาศ พงศ์มณี อาจารย์ประจำหน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่